การยางแห่งประเทศไทย กยท. จัดงานสัมมนา "ไขทางออกแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราแบบบูรณาการ" ระดมผู้เชี่ยวชาญหลากด้าน เกษตรกรชาวสวนยาง ร่วมหาทางออกแก้ไขโรคใบร่วงยางพาราแบบบูรณาการร่วมกัน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานเปิดงานสัมมนา "ไขทางออกแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราแบบบูรณาการ" กล่าวว่า ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา เริ่มระบาดเข้าสู่ประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2562 มีพื้นที่การระบาดประมาณ 800,000 ไร่ ส่งผลให้ใบยางพาราเกิดอาการร่วงอย่างรุนแรง ทำให้ผลผลิตยางพาราลดลงถึงร้อยละ 50 เกษตรกรชาวสวนมีรายได้ลดลงตามไปด้วย ซึ่งในปีนี้พื้นที่การระบาดค่อนข้างใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา กยท. ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในการบริหารจัดการโรคใบร่วงฯ มีหน้าที่ดำเนินการมาตรการต่างๆ ได้แก่การศึกษาข้อมูลพื้นฐานโรค การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกษตรกรชาวสวนยางและผู้เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการป้องกัน และมาตรการยับยั้ง เป็นต้น แต่เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ การเข้าไปดำเนินการกับต้นยางพาราซึ่งมีขนาดใหญ่ในสภาพแปลงที่มีลักษณะทางภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน จึงยังขาดข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลในเชิงเทคนิคบางประการที่ต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ จึงเป็นที่มาของการจัดสัมมนาในครั้งนี้
นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ เป็นการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้แทนเกษตรชาวสวนยางและสหกรณ์จังหวัดในพื้นที่โรคระบาด ผู้แทนสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ผู้แทนเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้แทนภาคเอกชน รวมถึงพนักงานของ กยท. ในพื้นที่ เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา กำหนดมาตรการร่วมกันเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงร่วมเสนอโจทย์วิจัยที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม ในการนำข้อมูลเหล่านี้มาเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโรคให้ดีขึ้น
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวต่อว่า ผลจากการสัมมนาในเบื้องต้น มีความเห็นว่าควรจะร่วมกันศึกษาเชื้อสาเหตุให้ได้ผลที่แน่ชัด หาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพ่นสารและจำนวนครั้งที่ต้องพ่น จัดทำมาตรฐานประเมินความรุนแรงของโรค (Standardize) สำรวจผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง จัดให้มีศูนย์รวบรวมข้อมูลพื้นที่เกิดโรครวมทั้งสภาพสวนยางและสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจุบันที่สุด สำหรับนำมาใช้ในการตัดสินใจบริหารจัดการโรคที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น ด้าน มาตรการป้องกันและยับยั้งเชื้อราที่ดำเนินการได้โดยเกษตรกรชาวสวนยาง ที่มีความพร้อมเช่น การใช้ชีวภัณฑ์ ไตรโคเดอมา ชีวภัณฑ์ของสถาบันราชภัฏยะลา สามารถดำเนินการได้เลย ส่วนเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล การแปลภาพถ่ายดาวเทียม ก็มีความพร้อมในการสนับสนุนข้อมูลด้านการติดตามและประเมินพื้นที่เกิดโรค การวิเคราะห์สุขภาพต้นยาง ส่วนการพ่นสารด้วย UAV หรือเฮลิคอปเตอร์ก็พร้อมสนับสนุนถ้ามีการประสานและมีการกำหนดพิกัดพื้นที่ ขอบเขตที่ชัดเจน ทั้งหมดนี้ กยท. จะสานต่อและเร่งผลักดันไปสู่การปฏิบัติโดยเร็ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit