บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ภายใต้กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เดินหน้า ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย ในเทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ใช้ความรู้และเทคโนโลยีทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ปลดล็อกปัญหาความยากจน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ภายใต้ โครงการ "เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน" ขับเคลื่อนห่วงโซ่การผลิตอาหารอย่างรับผิดชอบ ตรวจสอบย้อนกลับได้ ระบุวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์มาจากพื้นที่ปลูกถูกต้องมีเอกสารสิทธิ์ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พัฒนาศักยภาพเกษตรกร เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์เติบโตอย่างยั่งยืนในวิถีใหม่
นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฏ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้ ซึ่งนับเป็นปีที่ 5 ของการดำเนินโครงการ "เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน" เกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการฯ 800 ครอบครัวในพื้นที่เทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา และใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 15,000 ไร่ ต่างพอใจกับผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูกาลนี้มาก ได้ผลผลิตที่ดีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งจากปริมาณฝนที่เพียงพอ และที่สำคัญ เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการปลูกมากขึ้น ผ่านการใช้เครื่องมือ และการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Chatbot เข้ามาช่วยเกษตรกรรายย่อยได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปลูก การเก็บเกี่ยว จนถึงการจัดจำหน่ายผลผลิต
โปรแกรม Chatbot เป็นหนึ่งเทคโนโลยีช่วยตอบโจทย์ในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรรายย่อยในวิถีใหม่ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของเกษตรกร ได้เข้าถึงและรับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของเกษตรกร ได้แก่ ข้อมูลราคารับซื้อรายวัน สภาพอากาศ ที่จะเป็นตัวช่วยให้เกษตรกรในกำหนดเวลาปลูกและเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสุด ผลผลิตต่อไร่ดี และ ราคารับซื้อข้าวโพดของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของซีพีเอฟ จะช่วยให้ เกษตรกรได้รับรู้ความเคลื่อนไหวของตลาดและราคารับซื้อข้าวโพดที่เป็นปัจจุบัน ช่วยป้องกันปัญหาเกษตรกรถูกเอาเปรียบ และมีทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตหรือเลือกขายให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของซีพีเอฟโดยตรงได้
นายวิเชียร ใกล้สันเทียะ เกษตรกรในเทศบาลบัลลังก์ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 140 ไร่ กล่าวว่า โครงการเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน และการเปิดรับซื้อผลผลิตโดยตรงของซีพีเอฟ เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก ช่วยแก้ปัญหาการถูกกดราคาผลผลิต การวัดความชื้น การชั่งน้ำหนักของโรงงานที่เป็นธรรมและได้มาตรฐาน ทำให้เกษตรกรมีกำลังใจที่จะพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ดีตามที่โครงการฯ เข้ามาช่วยแนะนำ ทำให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในปีนี้ดีขึ้น นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมของบริษัท ยังให้ความสำคัญกับดิน โดยมีการเข้ามาช่วยวิเคราะห์คุณภาพของดิน และให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยขี้ไก่และการฝังกลมตอซังข้าวโพด ไม่เผาแปลงเพาะปลูก ทำให้คุณภาพของดินดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"บัลลังก์โมเดล" นับเป็นพื้นที่แรกในการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้เพื่อพัฒนาเกษตรกรรายย่อยสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ตั้งแต่ การวิเคราะห์แร่ธาตุและอาหารในดินเพื่อทำสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมให้ได้ผลผลิตดีที่สุด การนำเทคโนโลยี GIS (Geographic Information System) มาใช้ในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์สภาพพื้นที่เพาะปลูกอย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุด นำโปรแกรม Chatbot มาใช้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีการสนับสนุนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ด้วยการจัดหารถเก็บเกี่ยวและรถขนส่ง รวมถึงช่วยเหลือค่าใช้จ่ายค่าเก็บเกี่ยวและค่าขนส่งบางส่วน เพื่อลดภาระต้นทุน แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และร่วมสนับสนุนการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน
โครงการ "เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน" เป็นความร่วมมือระหว่าง ซีพีเอฟ กับ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้ซีพีเอฟ ที่ต้องการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ ได้ทำการเกษตรให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ บนพื้นฐานการเกษตรที่ดีตามมาตรฐาน เพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง ใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างเหมาะสม และได้ต่อยอดร่วมมือกับภาครัฐ และเทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา สร้าง "บัลลังก์โมเดล" ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในเทศบาลตำบลบัลลังก์ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยั่งยืนแบบครบวงจร โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างต้นแบบกลุ่มเกษตรกรที่มีความรู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามหลักวิชาการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ นำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต ลดต้นทุน ปลดล็อกปัญหาราคาตกต่ำ และความยากจนของเกษตรกร ควบคู่กับการสร้างความพร้อมให้เกษตรกรไทยเข้าสู่ยุคเกษตรทันสมัย โดยใช้ข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจ และมีส่วนร่วมสนับสนุนการสร้างห่วงโซ่อาหารที่รับผิดชอบและยั่งยืน