ทีมนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) "KMUTT Railway Team" คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสองการแข่งขัน "Electric Locomotive Design Contest 2020" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 - 13 พฤศจิกายน 2563 ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยเป็นหนึ่งในสามทีมที่จะแข่งขันสร้างต้นแบบ prototype ในไทยปี 2564 เพื่อค้นหาสุดยอดทีมนักศึกษาไทยเข้าร่วมแข่งขันหัวรถจักรไฟฟ้า IMechE Railway Challenge ณ ประเทศอังกฤษ ในปี 2564 ซึ่งประเทศไทยส่งทีมเข้าแข่งขันเป็นครั้งแรก
ทีม KMUTT Railway Team เป็นการรวมทีมของนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มจธ. มีสมาชิกในทีมจำนวน 14 คน โดยมี ดร.ชาญชัย เตชะวัชราภัยกุล รศ.ดร.มงคล กงศ์หิรัญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และ ดร.ดนัย เผ่าหฤหรรษ์ อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมเครื่องกล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทีม
การแข่งขัน "Electric Locomotive Design Contest 2020" จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีความรู้และทักษะในการออกแบบและพัฒนารถราง ผ่านการลงมือทำโจทย์ที่คล้ายคลึงกับความเป็นจริง จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ด้านวิชาชีพให้นักศึกษามีความพร้อมมากขึ้นสำหรับการประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมระบบราง และอาจนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมด้านระบบรางด้วยฝีมือของนักศึกษา โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
สำหรับกติกาการแข่งขันทางคณะกรรมการทั้ง 10 มหาวิทยาลัยพันธมิตรได้ร่วมกันกำหนดให้เหมือนกับการแข่งขัน IMechE Railway Challenge ของประเทศอังกฤษ เช่น มีการดีไซน์ที่สมบูรณ์แบบ สามารถใช้งานได้จริง การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ และการคำนวณความรู้เชิงวิศวกรรม เป็นต้น
"องค์ความรู้ด้านระบบรางในประเทศไทยยังมีไม่มาก ทุกมหาวิทยาลัยที่มีความร่วมมือในโครงการนี้ไม่มีการปิดกั้นองค์ความรู้ แต่จะนำความรู้มาแลกเปลี่ยนและแบ่งปันกันจนมีความรู้เพียงพอในการสร้างผลงานนวัตกรรมต้นแบบของตนเอง การแข่งขันแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.การออกแบบแนวความคิด (Conceptual Design) 2. Business Model การวางแผนธุรกิจ วิเคราะห์ต้นทุน ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ 3. การนำเสนอแนวความคิดซึ่งเน้นด้านเทคนิค โดยใช้ผลการวิเคราะห์มานำเสนอภายใต้พื้นฐานทางวิศวกรรม ที่มีองค์ประกอบความเป็นนวัตกรรมสร้างสรรค์" ดร.ชาญชัย เตชะวัชราภัยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มจธ.กล่าว
นายศิริภัทร มณีสว่าง หรือ ภีม หัวหน้าทีม มจธ. กล่าวว่า จุดเด่นผลงานหัวรถจักรไฟฟ้า คือ เป็นงานออกแบบให้การซ่อมบำรุงสามารถทำได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนในส่วนของล้อบ่อยๆ และล้อที่ใช้จะสามารถเปลี่ยนได้ง่ายเพราะมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา อีกทั้งมีระบบ IOT ที่สามารถแจ้งเตือนสถานะของรถไฟได้แบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ได้สร้างแนวความคิดของระบบเบรคขึ้นมาใหม่ เป็นระบบควบคุมเบรคที่ลดระยะทางในการเบรค และเบรคได้นุ่มนวลขึ้น โดยการใช้ AI อัลกอริทึม
ด้าน ดร.ดนัย เผ่าหฤหรรษ์ อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมเครื่องกล มจธ. กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนโลจิสติกส์และระบบขนส่งมวลชนด้วยระบบราง แต่ยังมีบุคลากรระบบรางไม่เพียงพอและความรู้ยังไม่เข้มแข็ง ปัจจุบันประเทศไทยมุ่งเน้นผลิตบุคลากรทางด้านการซ่อมบำรุงและดูแลรักษา แต่ยังขาดในด้านการออกแบบที่เป็นส่วนสำคัญของระบบราง ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะเปลี่ยนหัวรถจักรจากดีเซลเป็นหัวรถจักรแบบไฮบริด คือใช้ไฟฟ้าร่วมกับน้ำมัน แต่ยังไม่มีบุคลากรในด้านนี้
"มจธ. มีศักยภาพในเรื่องการพัฒนาและวิจัย จึงพยายามที่จะผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพทางด้านนี้ขึ้นมาเพื่อรองรับในการออกแบบและเพื่อทดสอบ เช่น เรื่องโบกี้ดีไชน์ที่ในประเทศไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมในด้านนี้" ดร.ดนัย กล่าว
ทีมตัวแทนประเทศไทยกับการแข่งขัน IMechE Railway Challenge
หลังจากนี้ทีมชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 รองชนะเลิศอันดับ 2 และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (ในสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพในประเทศไทย) ทั้งสี่ทีมจะแข่งขันกันสร้างต้นแบบ prototype ขนาดแข่งขันจริง โดยจะเป็นการผลิตหัวรถจักรไฟฟ้าจริงจากต้นแบบขนาดใหญ่ไม่เกิน 2 เมตร สำหรับรางขนาด 10 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดที่ไม่ใหญ่มาก ให้รถไฟสามารถวิ่งได้ โดยจะแข่งขันกันที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในช่วงต้นปี 2564 เพื่อเฟ้นหาสุดยอดเทคนิคในแต่ละส่วน แต่ละระบบ มารวมทีมจากทั้งสี่ทีม ในนามทีมตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันหัวรถจักรไฟฟ้า IMechE Railway Challenge ณ ประเทศอังกฤษ ในปลายปี 2564 ต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit