เพราะกำลังใจคือยาวิเศษ...เรื่องเล่าของผู้ป่วยจิตอาสาหัวใจแกร่ง นักสร้างพลังบวกที่จุดประกายความหวังให้เพื่อนผู้ป่วยลุกขึ้นสู้อีกครั้ง

28 Dec 2020

"ถึงเราจะป่วยก็ป่วยแค่ร่างกายแต่จิตใจไม่ได้ป่วยตาม ทุกสิ่งที่เราทำในวันนี้ขอแค่ถ้าวันหนึ่งเราไม่อยู่แล้วก็ขอให้คนจดจำความดีที่เราทำได้ก็พอ เท่านี้ก็ไม่เสียดายที่ได้เกิดมาแล้ว" คำพูดที่หนักแน่นของ พี่เก่ง-บุญส่ง อินทรศักดิ์ สะท้อนถึงหัวใจนักสู้ในตัวเธอได้เป็นอย่างดี กว่า 10 ปีบนเส้นทางชีวิตที่ต้องต่อสู้กับโรคมะเร็ง เธอคนนี้เป็นทั้ง 'ผู้รับ' ความช่วยเหลือจากโครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ในขณะเดียวกันก็เป็น 'ผู้ให้' กำลังใจกับผู้ป่วยคนอื่นในฐานะจิตอาสาให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี

เพราะกำลังใจคือยาวิเศษ...เรื่องเล่าของผู้ป่วยจิตอาสาหัวใจแกร่ง  นักสร้างพลังบวกที่จุดประกายความหวังให้เพื่อนผู้ป่วยลุกขึ้นสู้อีกครั้ง

จุดเริ่มต้นมรสุมชีวิต
หากมองจากภายนอกน้อยคนจะรู้ว่า พี่เก่ง-บุญส่ง อินทร์ศักดิ์ วัย 49 ปีผู้หญิงช่างคุยคนนี้จะผ่านการต่อสู้กับโรคมะเร็งมาแล้วถึง 3 ครั้งในชีวิต แม้สภาพร่างกายจะยังคงมีร่องรอยของความเหนื่อยล้าที่ต้องต่อสู้กับโรคร้าย แต่แววตามุ่งมั่นในแบบนักสู้กลับทำให้เราสัมผัสได้ถึงหัวใจนักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้ของเธอ

"เก่งตรวจเจอมะเร็งเต้านมครั้งแรกตอนเมื่อวันที่ 13 เมษายน ปี 2553 ตอนนั้นอายุ 39 ปี ตอนที่ตรวจเจอมะเร็ง เต้านมได้ลุกลามเป็นระยะที่ 3 แล้ว จำความรู้สึกได้เลยว่าตอนที่รู้ว่าเป็นมะเร็งเราแทบล้มทั้งยืนจนหมอกับพยาบาลต้องเข้ามาช่วยกันพยุง ตอนนั้นเรารู้สึกว่าโลกหยุดหมุน หูอื้อจนไม่ได้ยินอะไรอีกแล้ว ร้องไห้เสียใจเหมือนเด็กๆ รู้สึกว่าโลกของเราแตกสลายไปกับตา พอได้สติเราก็คิดในหัวอย่างเดียวเลยว่ายังไงก็ต้องหายให้ได้ สามีก็บอกให้สู้ต่อ คุณหมอก็ให้กำลังใจบอกว่ายังมีหวังเพราะมะเร็งยังไม่ลามไปที่กระดูก หลังจากนั้นเราก็เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมาเรื่อยๆ"

ด้วยอาชีพหาเช้ากินค่ำทำให้พี่เก่งเป็นกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล จึงได้ปรึกษากับ นพ.ยอดยิ่ง วาสุถิตย์ ศัลยแพทย์ที่ให้การรักษาพี่เก่งในขณะนั้น ซึ่งคุณหมอก็ได้แนะนำให้พี่เก่งเข้ารับความช่วยเหลือจากโครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ของมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลตลอดการรักษารวมถึงค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิต โดยมีนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาดูแลสภาพจิตใจและความเป็นอยู่โดยรวม แต่ชีวิตก็เหมือนการท่องเรืออยู่ท่ามกลางมหาสมุทรที่ยังไม่รู้ทิศทาง เพราะเพียงผ่านไปไม่นานคลื่นยักษ์รอบที่สองก็ถาโถมเข้ามาอีกครั้งในปี 2559 พี่เก่งตรวจเจอมะเร็งครั้งที่สองบริเวณรังไข่จนต้องผ่าตัดมดลูกทิ้ง และพายุร้ายก็ยังคงโหมกระหน่ำใส่ไม่หยุดเพราะในปี 2562 เธอได้ตรวจพบมะเร็งครั้งที่สามบริเวณกระบังลม จนต้องกลับมาใช้ชีวิตที่โรงพยาบาลรามาธิบดีในฐานะผู้ป่วยอีกครั้ง

กำลังใจเยียวยาหัวใจที่บอบช้ำ
"สิ่งเดียวที่ทำให้เก่งผ่านเรื่องร้ายๆมาได้คือกำลังใจ ไม่ว่าจะเป็นกำลังใจจากคุณหมอ พยาบาล ครอบครัว และกำลังใจจากเพื่อนผู้ป่วยด้วยกัน ทุกครั้งที่รู้ว่ามะเร็งกลับมา เก่งก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ร้องไห้เสียใจและเฝ้าถามตัวเองว่าทำไมต้องเป็นเราที่เจอแต่เรื่องร้ายๆ แต่พอได้สติและมองกลับไปรอบตัวก็รู้ว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว เรายังมีสามีเรายังมีลูกที่พร้อมอยู่ข้างๆ คอยพยุงให้เราเดินต่อไปได้ พอคิดได้อย่างนี้เก่งก็อยากจะสู้ต่อ ต้องไม่ยอมแพ้แล้วเราก็จะไม่แพ้ ทุกวันนี้เก่งผ่านการรักษามาเยอะมาก รู้สึกเจ็บทุกครั้งที่โดนฉีดยาและเข้ารับการผ่าตัด แต่เก่งก็ภาวนาจิตทุกครั้งที่มีโอกาสว่าขอให้ทุกความเจ็บป่วยมารวมอยู่ที่เราคนเดียวพอ เพราะเก่งรู้ดีว่ามันทรมานขนาดไหนและเก่งไม่อยากให้คนอื่นเขามาเจ็บเหมือนที่เราเป็น"

จิตอาสาหัวใจแกร่ง
พี่เก่งเริ่มเข้ามาช่วยงานจิตอาสาจากการชักชวนของ คุณแหวว - วรธิดา มาศเกษม พยาบาลวิชาชีพ คู่ใจที่คอยดูแลเธอมาตั้งแต่เริ่มป่วยใหม่ๆ และยังคงดูแลซึ่งกันและกันมาจนถึงปัจจุบัน เพราะทางโรงพยาบาลมีการจัดตั้ง "ชมรมประกายพรึก" ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ป่วยกลุ่มมะเร็งนรีเวช เพื่อมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน โดยพี่เก่งได้เข้ามาช่วยงานในฐานะจิตอาสาผู้ให้กำลังใจกับผู้ป่วยคนอื่นๆที่เข้ารับการรักษาตัวกับทางโรงพยาบาลรามาธิบดี

"เก่งมองว่าเราเป็นผู้รับมามากแล้ว ตลอดเวลาที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดีทุกคนช่วยเหลือเราดีหมด ค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ถ้าเราต้องจ่ายเองก็คงไม่รู้จะไปหามาจากที่ไหน เมื่อวันหนึ่งเก่งมีโอกาสที่จะได้ตอบแทนสังคมเก่งก็ยินดีที่จะทำเพราะเราอยากเป็นผู้ให้กับคนอื่นบ้าง ตอนนั้นเราก็ไม่มั่นใจว่าจะทำได้รึเปล่า แต่ก็ตกลงใจว่าจะเข้ามาช่วยตั้งแต่ครั้งแรกที่คุณแหววชวน การเข้ามาพูดให้กำลังใจคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการพูดกับคนป่วยที่เขามีความทุกข์ใจอยู่มาก แต่เราก็ใช้ความเป็นคนคุยเก่งของเรา พยายามชวนกลุ่มผู้ป่วยคุยไปเรื่อยๆ พยายามให้พวกเขาเปิดใจระบายความรู้สึกออกมากแล้วรับฟังพร้อมกับให้กำลังใจพวกเขา เก่งเข้ามาทำอย่างนี้มาตั้งแต่ปี 2559 พูดคุยกับคนมาเยอะมาก ซึ่งเก่งรู้สึกดีใจมากที่เข้ามาทำงานจิตอาสา เพราะเป็นสิ่งเล็กๆที่เราสามารถทำได้เพื่อช่วยลดความทุกข์ใจของผู้ป่วยและยังเป็นการตอบแทนในสิ่งที่เราเคยได้รับมาอีกด้วย"

ให้กำลังใจต่อลมหายใจ
ปัจจุบันพี่เก่งยังคงเดินทางมาเป็นจิตอาสาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอยู่เสมอ ซึ่งเธอต้องเดินทางจากบ้านพักย่านบางนามาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชที่มีอาการแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกคนล้วนต้องการเหมือนกันคือ 'กำลังใจ'

"การได้มาเจอผู้คนได้มาพูดคุยกับพวกเขาก็เป็นการสร้างกำลังใจให้เราเหมือนกัน พอได้มาเป็นจิตอาสาเก่งรู้สึกว่าชีวิตเรามีคุณค่าขึ้น ที่ยังสามารถทำงานได้ ทุกวันนี้เราคิดอย่างเดียวคือต้องสู้ต่อไปให้ได้แม้ว่าอนาคตเราเองก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน คิดแค่ว่าถ้าวันนี้ยังมีชีวิตอยู่ก็จะใช้ให้ดีที่สุดทำประโยชน์ตอบแทนสังคมให้ได้มากที่สุด เพราะการสนับสนุนจากมูลนิธิรามาธิบดีฯ คือการให้โอกาสให้เก่งได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง"

โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ ให้ได้รับโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีและมีประสิทธิภาพ โดยเป็นโครงการที่ดำเนินงานมากว่า 51 ปี นอกจากการสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลแล้วทางโครงการยังพิจารณามอบค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆในการดำรงชีพให้แก่ผู้ป่วยยากไร้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างแท้จริงอีกด้วย ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยยากไร้จำนวนมากที่เดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เราทุกคนสามารถช่วยสนับสนุนโครงการผู้ป่วยยากไร้ เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้ผู้ป่วยยากไร้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ผ่านมูลนิธิรามาธิบดีฯ

ชื่อบัญชี มูลนิธิรามาธิบดี
ธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 879-2-00448-3
ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 026-3-05216-3
ธนาคารกรุงเทพ เลขที่ 090-3-50015-5
บริจาคออนไลน์ www.ramafoundation.or.th สอบถามโทร 02-201-1111