นางสาวรัชนี นาคบุตร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) เปิดเผยหลังการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตสับประรดโรงงาน ระหว่างวันที่ 4 - 9 ธันวาคม ที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตหลักของประเทศ พบว่า สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ปี 2562 ต่อเนื่องถึงปี 2563 ต้นสับปะรดไม่สมบูรณ์ทำให้การบังคับผลผลิตได้น้อยลง ส่งผลให้ผลผลิตสับปะรดในปี 2563 ลดลงค่อนข้างมาก ทำให้ราคาที่เกษตรกรขายได้ดีดตัวสูงขึ้นเพิ่มจากปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 40
จากการติดตามสถานการณ์การผลิตปี 2563 (ข?อมูล ณ เดือนกันยายน 2563) พบว่า ภาคตะวันตกมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 224,594 ไร่ ปริมาณผลผลิตรวม 669,426 ตัน ลดลงจาก 949,415 ตัน ในปี 2562 (ลดลง 279,989 ตัน หรือร้อยละ 29) ส่งผลให้ราคาสับปะรดโรงงานที่เกษตรกรขายได้ปี 2563 (ราคาเฉลี่ย มกราคม - ธันวาคม) อยู่ที่ 12 บาท/กิโลกรัม โดยราคาช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมสูงสุดเฉลี่ย 14 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากปริมาณผลผลิตน้อย ขณะที่โรงงานแปรรูป มีความต้องการสูง
ส่วนสถานการณ์การผลิตสับประรดในภาพรวมภาคตะวันตกปี 2564 คาดว่า ปริมาณผลผลิตสับปะรดโรงงาน ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาสับปะรดโรงงาน ที่เกษตรกรขายได้ตั้งแต่ปลายปี 2562 สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรทำการรื้อแปลงเดิมและปลูกใหม่ ดูแลรักษาดี ประกอบกับช่วงปลายปี 2563 สภาพอากาศเอื้ออำนวย โดยผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดในเดือนมกราคม และจะออกสู่ตลาดมากในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม
ด้านสถานการณ์ตลาดสับปะรดโรงงานปี 2564 คาดว่า ราคาสับปะรดโรงงานในไตรมาสแรก (มกราคม - มีนาคม) จะยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว รวมทั้งตู้คอนเทนเนอร์เพื่อขนส่งสินค้าส่งออกไปต่างประเทศไม่เพียงพอ ทำให้ตลาดต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อ ดังนั้น โรงงานแปรรูปสับปะรดอาจต้องปรับแผนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดของภาคตะวันตก จังหวัดได้ขอความร่วมมือโรงงานแปรรูปสับปะรดในพื้นที่ให้รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ส่วนมาตรการในระยะยาวส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดและโรงงานแปรรูปวางแผนการผลิตและการตลาดร่วมกัน (Contract Farming) โดยสร้างความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ในการทำเกษตรพันธสัญญา เพื่อลดปัญหาผลผลิตส่วนเกินและราคาตกต่ำ และได้ผลผลิตมีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด
ดังนั้น จึงฝากถึงเกษตรกรผู้ปลูกสับประรด ควรวางแผนการบังคับผลผลิตเพื่อไม่ให้ผลผลิตเกิดการกระจุกตัว หรือปรับการผลิตเป็นสับปะรดเพื่อบริโภคผลสดบางส่วน และการร่วมมือกับโรงงานแปรรูปทำ Contract Farming ล่วงหน้า เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาทั้งด้านปริมาณผลผลิตและราคาสับปะรดให้มีเสถียรภาพและสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรผู้ปลูกสับปะรด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit