ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เคลียร์ปัญหา ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอจะนะได้รับผลกระทบจากโครงการ "จะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" ดูสภาพพื้นที่บ้านปากบางสะกอม เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านกว่า 100 ลำ และทำความเข้าใจกับแกนนำกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น เพื่อหาทางออกร่วมกัน
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ "จะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" และกังวลในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จึงมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากการดำเนินโครงการดังกล่าว แล้วนำปัญหาที่แท้จริงและข้อเสนอจากชาวบ้านไปนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด อยากไรก็ตาม รัฐบาลจะหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้และเกิดประโยชน์สูงสุด
โดยจุดที่ 1 ไปพบปะตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่บ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (บริเวณหาดเต่าไข่) ณ จุดพักชมธรรมชาติที่สวยงามที่สุดในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เดินทางต่อไปยังตำบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อดูสภาพพื้นที่และพบปะชาวประมงพื้นบ้าน ณ บ้านปากบางสะกอม จุดนี้มีเรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 100 ลำ ที่คอยให้การต้อนรับและสะท้อนปัญหาความกังวลที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และจุดที่ 3 ไปยังโรงเรียนศาสนบำรุง ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อหารือร่วมกับแกนนำกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น
จากการรับฟังประเด็นปัญหาและข้อเสนอของชาวบ้าน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่เห็นด้วย แต่มีเงื่อนไข กลุ่มเห็นด้วยทุกกรณี และกลุ่มคัดค้าน โดยกลุ่มแรก ต้องการให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่จะสร้างขึ้นนี้ด้วย อาจเป็นในรูปการจัดตั้งบริษัท เพื่อเข้าถือหุ้น โดยคณะอนุกรรมการฯ จะรับข้อเสนอของทุกฝ่ายไปศึกษาความเป็นไปได้ในทางกฎหมาย และเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี แล้วเสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณาในลำดับต่อไป
จุดแรกพบปะชาวบ้านบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ เสนอให้ยุติโครงการก่อสร้างไปก่อน แล้วกลับไปศึกษาผลกระทบต่างๆ อย่างรอบคอบ โดยรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านทุกกลุ่ม เพื่อให้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะมากขึ้น จุดนี้มีทั้งกลุ่มที่ทำประมง และปลูกพืชผลทางเกษตรกร และทำนาข้าว ที่เป็นพันธ์ข้าวอนุรักษ์(พันธ์ข้าวลูกปลา) การก่อสร้างดังกล่าวจะส่งผลกระทบอาชีพเหล่านี้ รวมถึงมีผลกระทบต่อรายได้และอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกันด้วย
ด้านตัวแทนนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จากวิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้ ดังนั้นจึงควร ศึกษาข้อมูลที่จะมารองรับถึงความเหมาะสมและคุ้มค่า ซึ่งที่ผ่านมาข้อมูลที่ถูกนำเสนอยังไม่เพียงพอ ในการสร้างความเชื่อมั่น เพราะไม่ได้มาจากการศึกษา นักวิชาการและชาวบ้านจึงยังมีความกังวลและคิดว่าการก่อสร้างอาจไม่ได้เป็นการพัฒนาภาคใต้หรือพัฒนาประเทศ จึงเสนอให้ควรที่จะกลับไปทบทวนอีกครั้ง หากมีข้อมูลที่ชัดเจน จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชาวบ้านได้
นอกจากนี้ ยังได้พบกับกลุ่ม "เครือข่ายประชาชนจะนะอาสาเพื่อพัฒนาถิ่น" ซึ่งเป็นตัวแทนจาก 3 ตำบลได้แก่ ตำบลนาทับ ตำบลตลิ่งชันและตำบลสะกอม ต้องการให้รัฐบาลเดินหน้าต่อไป พร้อมยื่นหนังสือถึงสนับสนุนไปยังนายกรัฐมนตรีอีกด้วย
จุดที่ 2 หารือร่วมกับตัวแทนสมาคมประมงสงขลาและพบปะชาวประมงพื้นบ้าน เสนอให้มีการต่อยอดอาชีพที่เป็นอยู่ แทนการนำนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่ และควรต้องมีการสำรวจความคิดเห็นของชาวบ้าน เพราะพื้นที่นี้เป็นครัวของจังหวัดที่มีอาหารทะเลที่อุดมสมบูรณ์
และจุดสุดท้าย ไปยังโรงเรียนศาสนบำรุงตำบลบ้านนาอำเภอจะนะเพื่อหารือร่วมกับแกนนำกลุ่มธนะรักษ์ถิ่น โดยกลุ่มแกนนำให้ความเห็นว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านการก่อสร้าง แต่ต้องการให้ศึกษาผลกระทบอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและสร้างความเชื่อมั่นแก่ชาวบ้านได้ อีกทั้งให้ชาวบ้านทุกกลุ่มมีส่วนร่วมมากกว่านี้ จึงจะสามารถลดความขัดแย้งลงได้
"ท่านนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ให้ฟังทั้งสองฝ่าย ให้พูดคุยหารือกันด้วยเหตุผล ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ขอให้มั่นใจ ว่าท่านรักเป็นห่วงพี่น้องประชาชนทุกคน และจะได้หาทางออกรร่วมกัน และไม่ทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน" รมช.แรงงานกล่าวในท้ายสุด
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit