บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เฮรับทรัพย์จากการจำหน่ายโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม Iwakuni ในประเทศญี่ปุ่น มูลค่าขายรวม 2,864 ล้านบาท ส่งผลให้ได้รับกำไรจากการลงทุนเข้ามาในไตรมาส 4/63 กว่า 1,091 ล้านบาท หนุนกำไรปี 63 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ "โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์" ระบุสามารถนำกำไรที่ได้มาลงทุนโครงการใหม่ได้มากกว่า 150 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องใช้เงินส่วนทุนของบริษัทฯ เพื่อเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิต1,000 เมกะวัตต์ และสร้างผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นได้มากขึ้น
นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้แจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อทราบถึงสารสนเทศในการจำหน่ายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Iwakuni ในประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตตามการซื้อขายไฟฟ้า 75 เมกกะวัตต์ และตามการผลิตติดตั้ง 98 เมกะวัตต์ โดยดำเนินการการขายเงินลงทุน100% ของ East Japan Solar 13 Godo Kaisha (EJS 13) ที่ถือโดย Future Asset Management KK (FAM) และ Gunkul International (Mauritius) (GIM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GUNKUL ด้วยมูลค่า 9,943 ล้านเยน หรือคิดเป็นมูลค่าขายรวม 2,864 ล้านบาท และก่อให้เกิดกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนในงบการเงินไตรมาส 4/2563 เป็นมูลค่า 1,091 ล้านบาท (อัตรา 0.287419 เยนต่อบาท) โดยบริษัทได้รับชำระราคาเรียบร้อยแล้ว
สำหรับประโยชน์จากการจำหน่ายเงินลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์ม Iwakuni ทำให้บริษัทฯ สามารถบันทึกกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนได้ทันที และนำกำไรที่ได้มาลงทุนสำหรับโครงการใหม่ได้มากกว่า 150 เมกะวัตต์ โดยที่ไม่ต้องใช้เงินส่วนทุนของบริษัทฯเพิ่ม อันจะนำไปสู่เป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตสู่ 1,000 เมกะวัตต์ในอนาคต ซึ่งในแต่ละปีบริษัทฯ ใช้งบลงทุนประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท อีกทั้งยังสามารถได้รับผลตอบแทนจากเงินลงทุนที่รวดเร็วจากการลงทุนโครงการใหม่ ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Iwakuni ต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปี จึงจะสามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวต่อถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2563 คาดว่า กำไรจะเติบโตเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการเติบโตในธุรกิจทุกด้าน และทยอยรับรู้รายได้จากมูลค่างานก่อสร้างที่ได้รับไว้แล้วกว่า 8,000 ล้านบาท ประกอบกับการจำหน่ายเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น ทำให้บริษัทฯ มีสถานะทางการเงินที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปี 2564 ที่บริษัทฯ มีความพร้อมในการลงทุนประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท เนื่องจากมีกระแสเงินสดในมือ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการลงทุนได้มากขึ้น และจะเป็นหลักประกันสำคัญในด้านความเติบโตของ GUNKUL ต่อไป
"ฝ่ายบริหารบริษัทฯ เห็นว่าการจำหน่ายโครงการดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ทั้งในส่วนของการสร้างกระแสเงินสด เสริมความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน ทำให้บริษัทฯ มีโอกาส ได้รับผลตอบแทนเงินลงทุนเร็วขึ้นและมากกว่า ดังนั้นกำไรจากการจำหน่ายในโครงการดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ ไม่ต้องใช้ส่วนทุนเพิ่มในการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ในอนาคต ที่สำคัญสร้างผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและบริษัทฯ สูงกว่า"นางสาวโศภชากล่าว