นฤมล ถก UN ปูพรมส่งเสริมอาชีพสตรี กลุ่มเปราะบาง และแรงงานข้ามชาติ สู้โควิด-19

11 Jan 2021

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน หารือ ยูเอ็น เตรียมส่งเสริมอาชีพสตรี กลุ่มเปราะบาง และแรงงานข้ามชาติ เสริมบทบาทเอกชนกู้วิกฤตโควิด-19

นฤมล ถก UN ปูพรมส่งเสริมอาชีพสตรี กลุ่มเปราะบาง และแรงงานข้ามชาติ สู้โควิด-19

วันที่ 11 มกราคม 2564 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน หารือร่วมกับ ดร.นักสิทธ์ ศักดาพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสตรี จาก United Nations Thailand (UN Thailand) และคณะ ในประเด็นบทบาทภาคเอกชนกับการป้องกันโควิด-19 ในกลุ่มสตรี กลุ่มเปราะบาง และแรงงานข้ามชาติ รวมถึงความร่วมมือด้านการส่งเสริมอาชีพในแต่ละกลุ่ม โดยมีหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะทำงานเข้าร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องรับรองพิเศษ ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

รมช. แรงงาน กล่าวว่า ภารกิจด้านการพัฒนาทักษะฝีมือที่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการนั้น ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ การสร้างแรงงานให้มีคุณภาพ ให้มีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรม S-Curve โดยมีคณะอนุกรรมการที่คัดเลือกจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนงานดังกล่าว ส่วนที่ 2 คือ การยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่ง (กพร.) เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมเพื่อ up-skill re-skill และทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้สามารถมีรายได้ที่สูงขึ้นตามมาตรฐานฝีมือ ส่วนสุดท้าย คือ การให้โอกาสกับกลุ่มเปราะบาง แรงงานสตรี คนพิการ เพื่อให้กับกลุ่มเหล่านี้มีโอกาสเข้าถึงอาชีพเท่าเทียมกับกลุ่มอื่น นอกจากนี้ยังรวมถึงการฝึกทักษะให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มสตรีที่อยากมีอาชีพเสริม

รมช.แรงงาน กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงานเป็นอย่างมาก ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ล้วนเป็นกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การเข้าฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ เช่น การทำอาหาร การขายสินค้าออนไลน์ งานหัตถกรรม งานฝีมือ เป็นต้น แรงงานสตรีจะมีการรวมกลุ่ม ทำผลิตภัณฑ์จำหน่ายในชุมชนอยู่แล้ว ซึ่ง กพร. จะเข้าไปต่อยอดองค์ความรู้ให้ เนื่องจากมีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานครบทุกจังหวัด โดยใช้กลไกการเชื่อมโยงผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดกับแรงงานจังหวัด เพื่อทำงานบูรณาการได้ง่ายขึ้น อีกทั้ง ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ฝึกอบรมการติดตั้งระบบส่งสัญญาณโทรคมนาคมในระบบ 4G และ 5G ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. หรือ ETDA) อบรมให้แรงงานมีความรู้ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce เป็นต้น จึงสามารถช่วยให้แรงงานในแต่ละพื้นที่ ได้รับโอกาสพัฒนาทักษะที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และจะมีการจัดตั้งสถาบันพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมดิจิทัล (DIDA) หาก UN เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะ จะสามารถช่วยเหลือกลุ่มแรงงานสตรีได้ เนื่องจากแรงงานสตรี จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ หากมีการเลิกจ้างงาน

ด้าน ดร.นักสิทธิ์ ศักดาพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสตรี จาก United Nations Thailand (UN Thailand) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ มีโครงการใหญ่ 2 โครงการ เพื่อสนับสนุนสตรีที่อยู่ในต่างจังหวัดให้ทำธุรกิจของตนเอง โดยเน้นกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวและเกษตรกรที่เป็นผู้หญิง เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เข้าถึงเทคโนโลยียาก จึงจะพยายามให้มีการฝึกการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดและเชื่อมโยงการกระจายสู่ตลาด เนื่องจากมองว่าหากเขาเห็นช่องทางการตลาดจะสามารถต่อยอดได้ด้วยตัวเอง โดยที่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุน เชื่อมโยงตลาดให้ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มสตรีดังกล่าวสามารถทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาและกระจายผ่านช่องทางที่ UN ประสานงานให้ ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือสตรีให้รอดพ้นจากวิกฤตโควิดอีกทางหนึ่ง

HTML::image(