ผลสำรวจล่าสุดจาก จีเอสเค คอนซูเมอร์ เฮลธ์แคร์ ซึ่งจัดทำโดยบริษัทสำรวจและวิจัยตลาด อิปซอส เปิดเผยว่า การระบาดของ โรคโควิด-19 ส่งผลต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้บริโภคอย่างชัดเจน โดยมีการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์กับผู้บริโภคจำนวน 4,500 คน ซึ่งมีอายุมากกว่า 18 ปีจาก 5 ประเทศในยุโรป (ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร สเปนและรัสเซีย) และ 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย)
ข้อค้นพบที่สำคัญของผู้บริโภคในประเทศไทยจากผลสำรวจมีดังนี้
ผู้บริโภคในประเทศไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าการมีปัญหาสุขภาพช่องปาก อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ตามมา แต่ยังไม่มีแนวทางดีพอในการจัดการสุขภาพช่องปากให้ดีขึ้น
การแพร่ระบาดของโรคของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคในประเทศไทยเปลี่ยนแนวทางการดำเนินชีวิต มาตรการล็อคดาวน์ในหลายพื้นที่ทำให้ผู้คนใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการบังคับให้ต้องทำงานจากที่บ้าน ดังนั้น จากผลการศึกษาจึงสังเกตเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันและพฤติกรรมของผู้บริโภคอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากโดยรวมของพวกเขา
ในประเทศไทย ผู้บริโภค 9 ใน 10 คน หรือกว่า 92% กล่าวว่า การดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีจะส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม 63% เชื่อว่าการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีสามารถลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ 85% เชื่อว่าการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีสามารถส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีได้ และ 66% เชื่อว่าการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีจะส่งผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือการจัดการกับโรคเบาหวานได้ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ผู้บริโภคในประเทศไทยส่วนใหญ่ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่ดี แต่ผลสำรวจก็ชี้ให้เห็นว่าพวกเขายังมีแนวทางในการจัดการสุขภาพช่องปากที่ไม่ดีพอ ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตโดยรวม
ในบรรดาผู้ที่เผชิญปัญหาเกี่ยวกับช่องปากอย่างน้อยหนึ่งอาการ พบว่ามีผู้บริโภคในประเทศไทยเพียง 38% เท่านั้นที่ระบุว่ามีการใช้ผลิตภัณฑ์เฉพาะทางเพื่อดูแลช่องปาก และมีเพียง 6% เท่านั้นไปเข้ารับการตรวจเช็คหรือทำความสะอาดช่องปากกับผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมเป็นประจำเพื่อรักษาปัญหาดังกล่าว ถึงแม้มีข้อเท็จจริงที่ระบุว่า 79% ของผู้บริโภคในประเทศไทยอ้างว่าตนเองมีปัญหาเสียวฟัน โดย 68% กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วรู้สึกเจ็บฟันเมื่อรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่ม ผลสำรวจเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนไทยที่ไม่กระตือรือร้นในการรักษาสุขภาพช่องปากโดยรวม แม้หลายคนจะเผชิญกับปัญหาสุขภาพช่องปากอย่างน้อยหนึ่งอาการอยู่แล้วก็ตาม
การเพิกเฉยต่อการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดำเนินไปในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้บริโภคและอาจจะเกิดความเสี่ยงอื่นๆ ตามมา
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ซึ่งส่งผลให้สุขภาพช่องปากโดยรวมแย่ลงเช่นกัน
ผู้บริโภคในประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงระหว่างการระบาดของโควิด-19 พวกเขารับประทานขนมขบเคี้ยวเพิ่มขึ้น 20% กาแฟหรือชา 22% ขนมที่มีส่วนประกอบของไอศกรีม 19% น้ำผลไม้บรรจุกล่อง 21% และน้ำดื่มอัดลม 12% การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มประเภทนี้ที่เพิ่มขึ้นส่งผลชัดเจนต่อสุขภาพช่องปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นปัจจัยที่เข้าไปเร่งการสึกหรอของสารเคลือบฟันซึ่งร่างกายไม่สามารถฟื้นฟูได้ตามธรรมชาติ
ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ผู้บริโภคในประเทศไทยประสบปัญหาสุขภาพช่องปากที่แย่ลงอยู่แล้ว ซึ่งเกิดจากการบริโภคอาหารและดื่มเครื่องดื่มดังกล่าว 79% ระบุว่ามีอาการเสียวฟัน 47% ระบุว่ามีปัญหาฟันเหลือง และ 60% ระบุว่ามีปัญหาคราบหินปูน และนี่คือ 3 ปัญหาหลักเกี่ยวกับช่องปากที่ผู้บริโภคในประเทศไทยกำลังเผชิญ
เมื่อสำรวจความคิดเห็นว่าพวกเขามีแนวทางในการจัดการกับปัญหาช่องปากของตนเองอย่างไร 26% ระบุว่าหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหา คือการแปรงฟันเป็นประจำ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดเป้าหมายและแนวทางเฉพาะในการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้บริโภค นอกจากนี้ มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 14% เท่านั้นที่เข้าไปรับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำกับทันตแพทย์เพื่อจัดการกับสภาวะสุขภาพช่องปากของพวกเขาอย่างกระตือรือร้น
โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคในประเทศไทยเกิดความลังเลที่จะไปพบทันตแพทย์
67% กังวลกับการไปพบทันตแพทย์ด้วยตนเอง เนื่องจากเหตุผลที่ต้องการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 34% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทยลดหรือหยุดการไปพบทันตแพทย์ในทันที ในบรรดาผู้บริโภคที่อ้างว่ารู้สึกกังวลหรือค่อนข้างกังวลที่จะไปพบทันตแพทย์ด้วยตนเอง 39% ระบุว่า ด้วยจำนวนคนในคลินิกทันตกรรมที่มากเกินไป จึงเกรงว่าจะไม่ได้ปฏิบัติตนตามมาตรการในการเว้นระยะห่างทางสังคมได้ 45% กล่าวว่า กลัวจะติดเชื้อโควิด -19 จากการสัมผัสอุปกรณ์ทันตกรรม และ 36% ระบุว่า ไม่มั่นใจว่าคลินิกทันตกรรมได้มีการฆ่าเชื้อและทำความสะอาดอย่างทั่วถึงและเรียบร้อยดีแล้วหรือไม่
คีธ ชอย หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธุรกิจคอนซูเมอร์ เฮลธ์แคร์ กล่าวว่า
"การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนและแนวทางการดูแลสุขภาพอย่างเห็นได้ชัด แต่เป็นสิ่งที่น่ายินดีว่าในขณะนี้มีการรับรู้อย่างกว้างขวางในหมู่ผู้บริโภคเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากปัญหาสุขภาพช่องปาก อย่างไรก็ดี เราจำเป็นต้องเร่งดำเนินงานเพิ่มเติมหลายอย่าง เพราะการดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีมีความสำคัญต่อการดูแลตนเองและสุขภาพโดยรวมในระยะยาว ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพช่องปาก จีเอสเค คอนซูเมอร์ เฮลธ์แคร์ พร้อมเข้าไปช่วยเหลือผู้บริโภคในการจัดการและพัฒนาแนวทางการดูแลสุขภาพช่องปากโดยรวม ผ่านความเข้ารู้ความเข้าใจที่ได้รวบรวมมาเกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภคผสานกับนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์"
"ปัจจุบันผู้บริโภคกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพช่องปากมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคราบหินน้ำลายที่สะสมหรืออาการเสียวฟันขณะรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่ม ปัญหาเหล่านี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติและพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความกังวลในการไปพบทันตแพทย์เป็นเหตุให้ได้รับการรักษาที่ล่าช้าส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ ดังนั้น การพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาเป็นประจำและการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากอย่างดีเป็นสิ่งจำเป็น การแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธีเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพช่องปากที่ดี" รศ.ทพ.ยสวิมล คูผาสุข ทบ. ประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (ปริทันตวิทยา) ปริญญาโท (ปริทันตวิทยา) กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit