กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับภาคีเครือข่ายทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการดำเนินการดูแลสุขภาพแม่และเด็กภาคตะวันออกเฉียงเหนือแบบบูรณาการ โดยจัดประชุมสัมมนาเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันในการดูแลสุขภาพแม่และเด็กภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างครบวงจร
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนา "ภาคีเครือข่ายทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อการดูแลสุขภาพแม่และเด็กภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทลแอนด์คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ว่า จากการศึกษาภายใต้โครงการ "อนาคตไทย" ของนักวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ และ HiTAP โดยการสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พบว่ายังคงมีปัญหาสุขภาวะในเด็กและสมควรได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง และกลุ่มอาการดาวน์ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาและดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่มีความผิดปกติดังกล่าวไม่น้อยกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะกลุ่มสตรีและเด็ก ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ร่วมกับ กรมอนามัย กรมการแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประสุขภาพแห่งชาติ ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดูแลสตรีและเด็กแรกเกิดแบบบูรณาการด้วยวิถีใหม่ ภายใต้แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี
นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ากับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ประกอบด้วย การตรวจคัดกรองภาวะพร่อง TSH/PKU ในทารกแรกเกิด โรคดาวน์ซินโดรม โรคธาลัสซีเมีย และมะเร็งปากมดลูก เพื่อทบทวนการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิผลมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ กรมอนามัย กรมการแพทย์ มูลนิธิและชมรมที่เกี่ยวข้อง จัดทำ "โครงการส่งเสริมสุขภาพเด็กไทย โดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบบริการทางห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์อย่างมั่นคงและยั่งยืน" ขึ้น และมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบบริกาทางห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์ สำหรับหญิงตั้งครรภ์และทารกแรกเกิด (Maternal and Child Health Laboratory) ในประเทศ
"สำหรับการประชุมครั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 4 แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ร่วมมือกับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และศูนย์อนามัยทั้ง 4 แห่ง ในเขตสุขภาพที่ 7,8,9 และ 10 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุม/สัมมนา เรื่อง "ภาคีเครือข่ายทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อการดูแลสุขภาพแม่และเด็กภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการด้านการดูแลสุขภาพแม่และเด็กแบบครบวงจร ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาให้คำแนะนำสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ การตรวจคัดกรองตรวจยืนยันและการส่งต่อรักษาโรค ซึ่งประกอบด้วย 4 กลุ่มโรค คือ โรคดาวน์ซินโดรม โรคธาลัสซีเมีย การตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด (TSH/PKU) และโรคเอดส์ HIV-PCR ในทารกที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อ เพื่อสุขภาพที่ดีของแม่ และเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" นพ.ศุภกิจกล่าว