บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จับมือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศความสำเร็จในการฝึกสุนัขดมกลิ่นคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายใต้โครงการวิจัย "การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ (K9 Dogs Sniff COVID-19)" ซึ่งเป็นสุนัขพันธุ์ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever) จำนวน 6 ตัว โดยได้พัฒนาทักษะของสุนัขดมกลิ่นให้สามารถตรวจสอบและจำแนกผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการออกจากกลุ่มคนปกติ ได้ผลแม่นยำถึง 94.8% นับเป็นการสร้างต้นแบบการฝึกสุนัขดมกลิ่นเพื่องานทางการแพทย์ให้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
โครงการวิจัย "การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ" นี้ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 นำโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย นักวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่ได้ดำเนินการค้นคว้าวิจัย ออกแบบการทดลอง และทดสอบความแม่นยำของสุนัข โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,085,600 บาท โดยมี บริษัท พี คิว เอ แอสโซซิเอท จำกัด (PQA Associates Ltd.) เป็นผู้ดำเนินการภาคสนามด้านการเตรียมตัวและฝึกสุนัข ด้วยการสนับสนุนด้านการฝึกสุนัขจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43
ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงวัตถุประสงค์และผลการวิจัยครั้งนี้ว่า "วัตถุประสงค์หลักของโครงการวิจัยนี้ คือ เราต้องการฝึกสุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบไม่แสดงอาการ เนื่องจากในการตรวจคัดกรองผู้เดินทางในพื้นที่สาธารณะและในสนามบินด้วยเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ มีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถแยกผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ โดยเฉพาะอาการไข้ได้ จึงมีแนวคิดที่จะใช้ศักยภาพของจมูกสุนัข ซึ่งมีเซลล์ประสาทรับรู้กลิ่นมากกว่า 300 ล้านเซลล์ ซึ่งมากกว่ามนุษย์ถึง 50 เท่า สามารถระบุสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายจากเหงื่อของผู้ป่วยที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากคนทั่วไปที่ไม่ได้ติดเชื้อ การใช้สุนัขดมกลิ่นจึงช่วยลดโอกาสในการเล็ดรอดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ จากการคัดกรองด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิ โดยสามารถนำมาใช้ร่วมกับการตรวจวัดอุณหภูมิ ให้มีความแม่นยำในการคัดกรองสูงขึ้น"
"โดยในระยะแรกของการฝึกสุนัขนั้น จะให้สุนัขจดจำกลิ่นเหงื่อใต้รักแร้ที่ดูดซับโดยแท่งสำลี และกลิ่นเหงื่อจากถุงเท้าของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และคนปกติที่ได้รับการยืนยันผลตรวจด้วยวิธี RT-PCR แล้ว ซึ่งเรามีทีมแพทย์และสัตวแพทย์ดูแลด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ถึงแม้ว่าในเหงื่อจะไม่มีเชื้อไวรัส ทางคณะผู้วิจัยได้ทำการฆ่าเชื้อที่อาจปนเปื้อนมาในเหงื่อด้วยวิธีตามเกณฑ์มาตรฐานสากล"
"จากผลการทดสอบสุนัขทั้ง 6 ตัว ก่อนออกไปปฏิบัติงานจริง พบว่ามีความไวในการตรวจหาตัวอย่างบวก (Sensitivity) หรือ การดมกลิ่นตัวอย่างที่มีผลบวกได้ถูกต้อง เฉลี่ย 97.6% และความจำเพาะในการดมกลิ่น (Specificity) หรือ การดมกลิ่นตัวอย่างที่มีผลลบได้ถูกต้องเฉลี่ย 82.2% ทำให้ได้ค่าความแม่นยำ (Accuracy) สูงถึง 94.8% ซึ่งใกล้เคียงกับผลการวิจัยในประเทศเยอรมัน ที่พบว่าสุนัขมีความแม่นยำ (Accuracy) ในการจำแนกผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สูงถึง 94% นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับชุดตรวจมาตรฐานโดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังพบว่าสุนัขของเรามีค่าความไวสูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับทีมงานทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมผลักดันให้ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้น ถือเป็นทีมวิจัยกลุ่มแรกและสุนัขต้นแบบกลุ่มแรกของประเทศไทยที่สามารถปฏิบัติงานทางด้านการแพทย์ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ ทางคณะกำลังเตรียมนำผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ ให้เกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการทั่วโลก"
นอกจากนี้ ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ ยังได้กล่าวย้ำว่า ขั้นตอนการวิจัยครั้งนี้ได้ผ่านการรับรองโดยคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อยืนยันว่าการวิจัยครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่และสุนัข โดยสุนัขได้รับการฝึกเพื่องานในโครงการนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้ ผลงานวิจัยสามารถนำไปต่อยอดการปฏิบัติงานได้จริง โดยเพิ่มเติมการออกแบบเพื่อใช้ในพื้นที่ปฏิบัติงานที่มีขนาดใหญ่
ด้าน นางสาวกิ่งกาน แก้วฝั้น ผู้จัดการโครงการ บริษัท พี คิว เอ แอสโซซิเอท จำกัด (PQA Associates Ltd.) ในฐานะผู้ดำเนินการภาคสนามด้านการเตรียมตัวและฝึกสุนัข กล่าวว่า "ทางบริษัท PQA ได้คัดเลือกสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever) จำนวน 6 ตัว ที่ยังไม่เคยผ่านการฝึกใดๆ เพื่อนำมาฝึกฝนในโครงการวิจัยนี้ เนื่องจากสุนัขพันธุ์นี้มีลักษณะนิสัยที่เป็นมิตร เข้ากับคนง่าย อีกทั้งยังเป็นพันธุ์ที่มีโพรงจมูกยาว ทำให้มีประสาทการดมกลิ่นที่ดี สำหรับการฝึกนั้นจะใช้โมเดลเดียวกับการฝึกดมสารเสพติด โดยทางบริษัท PQA ได้รับการอนุเคราะห์และสนับสนุนครูฝึกจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 ในการฝึกอบรมสุนัขร่วมกับครูฝึกของ PQA โดยโครงการฯ ได้ใช้ระยะเวลาในการฝึกฝนสุนัขรวม 6 เดือน ซึ่งระยะแรกจะเป็นการฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งพื้นฐาน เพราะต้องให้สุนัขมีระเบียบวินัยก่อนเริ่มการฝึกดมกลิ่นผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากนั้นจึงใช้เทคนิคเฉพาะซึ่งมีสองอย่าง คือ เทคนิคสลับตัวอย่างกลิ่นเหงื่อ และเทคนิคความแม่นยำในการจดจำกลิ่นเหงื่อของผู้ป่วย โดยนำแท่งสำลีซับเหงื่อของทั้งผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และเหงื่อของคนปกติ ไปบรรจุในขวดแก้ว หลังจากนั้นจึงนำไปติดตั้งบนอุปกรณ์วงเวียนแบบ 6 ขาและแบบ 1 ขา เพื่อใช้ทดสอบสุนัข เมื่อสุนัขได้กลิ่นเหงื่อของผู้ป่วยโควิด-19 สุนัขจะนั่งลงทันที"
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้สนับสนุนหลักของโครงการวิจัย กล่าวว่า "ในฐานะที่เชฟรอนดำเนินภารกิจจัดหาพลังงานให้กับประเทศ เรื่องของความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้การจัดหาพลังงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาเชฟรอนได้ให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ รวมถึงองค์กรต่างๆ กว่า 60 แห่ง ด้วยงบประมาณกว่า 13 ล้านบาท ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ก็ให้ความสำคัญกับการเสริมศักยภาพการรับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคที่ยังคงอยู่ในช่วงที่ต้องเฝ้าระวัง โดยโครงการวิจัย "การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ" ก็เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของเชฟรอน ซึ่งเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้โครงการฯ ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน"
"ภายหลังจากนี้ ทางบริษัทฯ จะดำเนินการในระยะที่สอง คือการนำสุนัขไปปฏิบัติงานจริงในภาคสนาม โดยทดสอบให้สุนัขดมกลิ่นเพื่อคัดกรองพนักงานของเชฟรอนที่จะเดินทางไปปฎิบัติงานนอกชายฝั่ง ณ จุดคัดกรองที่จังหวัดสงขลาต่อไป บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าความสำเร็จของโครงการวิจัยนี้ จะช่วยให้เรามีเครื่องมือที่สำคัญในการรับมือโรคโควิด-19 เชิงรุก ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงช่วยลดอัตราเสี่ยงในการแพร่ระบาดไปยังบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถนำมาใช้ร่วมกับการตรวจวัดอุณหภูมิ อันเป็นการเพิ่มศักยภาพในการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศไทย โดยเฉพาะ ณ จุดคัดกรองโรคในพื้นที่สาธารณะ และที่สำคัญ งานวิจัยนี้จะเป็นชุดความรู้ที่มีคุณค่า และเป็นต้นแบบการฝึกสุนัขดมกลิ่นเพื่องานทางการแพทย์ชุดแรกในประเทศไทย ที่หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ สามารถนำไปต่อยอดใช้งานเพื่อตรวจวิเคราะห์โรคต่างๆ ในมนุษย์ต่อไป"
อนึ่ง ในทางการแพทย์ ได้มีการใช้สุนัขดมกลิ่นเพื่อตรวจหาโรคมาแล้วหลายชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคมาลาเรีย โรคลมหลับ โรคไมเกรน อาการชัก รวมถึงโรคอื่นๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส สำหรับการใช้สุนัขดมกลิ่นในการตรวจหาผู้ป่วยโควิด-19 นั้นมีการใช้จริงภายในสนามบินต่างประเทศมาแล้วหลายแห่ง อาทิ ฟินแลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และออสเตรเลีย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit