นับเป็นเวลา 7 ปีแล้วที่ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร อยู่คู่มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่เป็นสถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งจัดการแสดงดนตรีระดับโลกมาแล้วมากมาย ตั้งแต่ปีพ.ศ.2557 จนได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในหอแสดงดนตรีที่ดีที่สุดในประเทศไทย
จนเมื่อถึงยามวิกฤติ COVID-19 ที่ต้องเว้นช่วงให้บริการ มหาวิทยาลัยมหิดลก็ยังคงให้ความเชื่อมั่นต่อสังคมเพื่อให้ทุกคนมั่นใจโดยกลับมาเปิดให้บริการประชาชนได้เข้าชมคอนเสิร์ตอีกครั้งในวันเสาร์ที่ 13 มีนาคม 2564 ในรูปแบบใหม่ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกับการแสดงดนตรีคลาสสิกที่น่าตื่นตาตื่นใจ ภายใต้ชื่อการแสดง "Exotic Journeys"
อาจารย์ ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการวง Thailand Philaharmonic Orchestra หัวหน้าสาขาการอำนวยเพลง ประธานหลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เดิมทางวง Thailand Philaharmonic Orchestra ได้มีการจัดการแสดงคอนเสิร์ตโดยจัดให้มี Pre - Concert เพื่อเล่าเรื่องบทเพลงก่อนการแสดงประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการดำเนินรายการระหว่างเพลง โดยมีการกล่าวนำสั้นๆ ก่อนเข้าสู่เพลง ซึ่งจากการทดลองจัดคอนเสิร์ตในรูปใหม่ดังกล่าว ได้มีการเก็บข้อมูลการประเมินจากผู้เข้าชม พบว่าผู้ชมได้รับอรรถรสในการฟังเพลงคลาสสิกมากขึ้น แม้จะไม่มีความคุ้นเคยกับดนตรีคลาสสิกมาก่อนเลยก็ตาม
สำหรับคอนเสิร์ต "Exotic Journeys" ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 13 มีนาคม2564 เวลา 16.00 น. ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา นี้ เป็นการรวบรวมบทเพลงที่ผู้ประพันธ์ได้ไปเยือนต่างดินแดนหรือมีส่วนผสมจากศิลปะต่างวัฒนธรรม โดยในคอนเสิร์ตจะมีการแสดงเพลง Symphony No.4 ของ Felix Mendelssohn นักประพันธ์ดนตรีระดับโลกชาวเยอรมัน ชื่อว่า Italy Symphony นอกจากนี้ยังมีการบรรเลงเพลงของ Wolfgang Amadeus Mozart นักประพันธ์ดนตรีระดับโลกชาวออสเตรีย ชื่อว่า Magic Flute และเพลงเดี่ยวเปียโนผลงานของCamille Saint-Seans นักประพันธ์ดนตรีระดับโลกชาวฝรั่งเศส ชื่อว่าEgyptian Concerto ซึ่งจะบรรเลงโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เอริ นาคากาวา อาจารย์สอนดนตรีเปียโนชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอาจารย์รุ่นบุกเบิกของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คอนเสิร์ตครั้งนี้อำนวยเพลงโดย อาจารย์ ดร.ภมรพรรณ โกมลภมรวาทยกรรุ่นใหม่ซึ่งนับเป็นสายเลือดของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในสาขาการอำนวยเพลง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำสาขาการอำนวยเพลง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์ ดร.ภมรพรรณ โกมลภมร เคยคว้ารางวัลชนะเลิศ The American Prize ในสาขาการควบคุมวง (Conducting) ได้รับรางวัลCareer Encouragement Citation ในรายการเดียวกัน และยังเข้ารอบFinalist ในการชิงชัย Ernst Bacon Memorial Award For The Performance Of American Music อีกด้วย ถือได้ว่าเป็นผู้นำสีสันใหม่ๆมาสู่วงการดนตรีคลาสสิกไทย เป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล
ในการเป็นต้นแบบของวาทยกรรุ่นใหม่ที่ทุ่มเททำหน้าที่ทั้งการเป็นศิลปินผู้อำนวยเพลง และการเป็นครูสอนดนตรีในขณะเดียวกัน โดยมุ่งหวังผลักดันให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้ก้าวสู่ความสำเร็จทางวิชาชีพของวาทยกรในระดับโลกได้ต่อไป
ติดตามรายละเอียดการเข้าชมคอนเสิร์ตได้ที่ FB: Thailand Philaharmonic Orchestra และข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th