"ลิ้นหัวใจตีบ" ต้องรีบรักษาก่อนสาย อันตรายถึงชีวิต
หนึ่งในอาการของผู้ป่วยโรคหัวใจที่น่ากลัวไม่แพ้หลอดเลือดอุดตันก็คือ "ภาวะลิ้นหัวใจตีบ" หากดูแลไม่ดี หรือไม่รีบรักษา ก็มีโอกาสสูงมากที่อาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ภายใน 2 ปีหลังมีอาการได้เลย..
โรคลิ้นหัวใจตีบเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติที่ลิ้นหัวใจ ส่วนใหญ่มักเกิดที่ลิ้นหัวใจเอออร์ติก ซึ่งเป็นลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา เป็นเส้นเลือดที่รับเลือดจากหัวใจส่งไปเลี้ยงร่างกาย เมื่อลิ้นหัวใจตีบจึงเปิดให้ส่งเลือดออกมาได้น้อยกว่าปกติ
และเมื่อลิ้นหัวใจเอออร์ติกเปิดได้ไม่เต็มที่ หัวใจจึงต้องทำงานหนักกว่าปกติ เพื่อจะสูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงทั่วร่างกายให้ได้เท่าเดิม หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตเฉียบพลันตามมาได้
โรคนี้มักมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของหัวใจที่ใช้งานมานาน ทำให้มีหินปูนเกาะสะสมที่ลิ้นหัวใจจนลิ้นหัวใจหนาขึ้นและเปิดได้น้อยลง โรคนี้จึงพบมากในผู้สูงอายุ ร่วมกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งเรื่องอาหารการกิน อารมณ์ ความเครียด ขณะเดียวกันผู้สูงอายุมักมีโรคร่วมต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน ไตวาย ทำให้ความยุ่งยากในการรักษาโรคหัวใจมากขึ้นและอันตรายจากโรคนี้ก็สูงขึ้นด้วย
เนื่องจากผู้ป่วยมักจะไม่ทราบว่าเป็นลิ้นหัวใจตีบ จนกว่าจะมีการตรวจร่างกายอย่างละเอียด หรือตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพประจำปี แต่ก็มีอาการที่สังเกตได้ เช่น เหนื่อยง่ายแม้ทำกิจกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวัน เป็นลมหมดสติ มีอาการแน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ ซึ่งหากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษาจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงควรรีบรักษาตั้งแต่เริ่มตีบระยะแรกๆ
การรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ เดิมใช้วิธีการผ่าตัดเปิดหน้าอกเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แต่ปัจจุบันมีนวัตกรรมการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก หรือ TAVI (trans catheter aortic valve implantation) ซึ่งเป็นการใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณขาหนีบ เมื่อสายสวนไปถึงบริเวณของลิ้นหัวใจที่ตีบแล้ว แพทย์จะทำการปล่อยให้ลิ้นหัวใจเทียมที่มีการม้วนพับอยู่กางออก กลายเป็นลิ้นหัวใจอันใหม่ทดแทนของเดิมที่เสื่อมสภาพ
นวัตกรรม TAVI ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วย ข้อดีคือไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก แผลมีขนาดเล็ก ไม่มีแผลที่หน้าอก ไม่ต้องพักฟื้นนาน ภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit