สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานปราจีนบุรี กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" พร้อมนิทรรศการเทิดพระเกียรติ และกิจกรรมวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 2 มีนาคม 2564 เพื่อสร้างความเข้าใจและเห็นความสำคัญของมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
วันที่ 2 มีนาคม 2564 นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เป็นประธานจัดงาน "วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ" ประจำปี พ.ศ.2564 ณ อาคารอเนกประสงค์ วิทยาลัยสารพัดช่างปราจีนบุรี โดยมีพิธีถวายราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" มีหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน เข้าร่วมพิธี เพื่อน้อมรำลึกในพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
นายวรพันธุ์ เปิดเผยหลังจากเป็นประธานว่า วันที่ 2 มีนาคมของทุกปีเป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
ซึ่งวันนี้เมื่อปี พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ณ ลุมพินีสถาน และพระราชทานพระราชเกี่ยวกับการช่างของไทย ความตอนหนึ่งว่า "...ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญ อย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่างๆที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุกๆฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูงให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการ ในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ ประการแรกได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือ ซึ่งจะต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้ มาตรฐานจริงๆ ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย การช่วยเหลือทั้งสามประการ จะต้องกระทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า ข้าพเจ้าใคร่ขอฝากความคิดทั้งนี้ไว้ เป็นแนวทางปฏิบัติของท่านทั้งหลายต่อไป"
จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลที่มีพระราชดำรัสถึงความสำคัญของช่างฝีมือที่มีบทบาทสำคัญต่อทุกคนในสังคม จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้มีฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพของสินค้าและบริการ ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย แม้จะผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว ยังคงทันสมัยและนับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
นายวรพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแสดงทักษะมาตรฐานฝีมือแรงงานเนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ได้แก่ นิทรรศการจากวิทยาลัยสารพัดช่างปราจีนบุรี วิทยาลัยการอาชีพกบินทร์บุรี วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี วิทยาลัยเทคนิคบูรพาปราจีน และหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน พร้อมได้มอบหนังสือให้แก่ผู้ผ่านการประเมินความรู้ความสามารถ สาชาช่างไฟฟ้าระดับ 1 เพื่อให้แรงงานได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาฝีมือ สู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการผลิตสินค้าและบริการ เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ สร้างการยอมรับในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมโลกในที่สุด
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit