องค์การยูนิเซฟ ระบุวันนี้ว่า นับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด มีเด็กและเยาวชนทั่วโลกราว 332 ล้านคน หรืออย่างน้อย 1 ใน 7 คน ต้องอยู่แต่ในบ้านมาแล้วอย่างน้อย 9 เดือนตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้นเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพจิตและสุขภาวะโดยรวม
ผลวิเคราะห์ล่าสุดของยูนิเซฟ ซึ่งใช้ข้อมูลจาก Oxford COVID-19 Government Response Tracker ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2563 ซึ่งประกาศให้โควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ มีเด็กจำนวน 139 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องอยู่แต่ในบ้านเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 9 เดือน เนื่องจาก คำสั่ง ให้ประชาชนทั่วประเทศอยู่แต่ในบ้านที่ประกาศใช้ในหลายประเทศ เช่น ปารากวัย เปรู และไนจีเรีย ขณะที่เด็กอีกจำนวน 193 ล้านคนก็มักใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านเช่นกัน หลังจากที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีมาตราการ แนะนำ ให้ประชาชนทั่วประเทศอยู่ในบ้าน
นางเฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า "ด้วยมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่จำกัดการเดินทาง ทำให้ปีที่ผ่านมานับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานสำหรับเราทุกคน โดยเฉพาะสำหรับเด็ก ๆ วันแล้ววันเล่าพวกเขาไม่ได้พบกับเพื่อนและอยู่ห่างไกลคนที่รัก หรือบางคนอาจต้องอยู่ร่วมกับสมาชิกในบ้านที่ใช้ความรุนแรง ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบมหาศาลต่อเด็ก ๆ เด็กจำนวนมากต้องอยู่ในบ้านด้วยความกลัว โดดเดี่ยว กระวนกระวาย และวิตกกังวลต่ออนาคต ดังนั้น เราต้องผ่านวิกฤตนี้พร้อมกับการจัดการปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่ดีกว่าเดิม โดยเริ่มจากการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง"
ในประเทศไทย ผลสำรวจของยูนิเซฟและภาคีซึ่งจัดทำในเดือนเมษายน 2563 พบว่า เด็กและเยาวชนกว่า 7 ใน 10 คน กล่าวว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ พวกเขามีความเครียด เป็นห่วงและวิตกกังวล โดยเรื่องที่พวกเขากังวลมากที่สุดคือปัญหาการเงินของครอบครัว
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เข้าสู่ปีที่สองและกำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและสุขภาวะโดยรวมของเด็กและเยาวชน ในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน ผลโพลยูรีพอร์ตของยูนิเซฟ ซึ่งได้สำรวจเยาวชนกว่า 8,000 คน พบว่า เยาวชนกว่า 1 ใน 4 เคยมีภาวะวิตกกังวล ขณะที่ร้อยละ 15 เคยเผชิญกับภาวะซึมเศร้า
ตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาด เด็กและเยาวชนจำนวนมากก็เผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว ทั้งนี้ โรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางจิตประมาณครึ่งหนึ่ง มักจะก่อตัวขึ้นก่อนอายุ 15 ปี ขณะที่ร้อยละ 75 เกิดขึ้นในช่วงผู้ใหญ่ตอนต้น แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราว 800,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน การทำร้ายตัวเองยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่สามในกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี โดยวัยรุ่นหญิงมีอัตราที่สูงกว่า นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่า เด็ก 1 ใน 4 คนทั่วโลกอาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่มีปัญหาสุขภาพจิต
สำหรับเด็ก ๆ ที่เผชิญกับความรุนแรง การถูกละเลย หรือการถูกทำร้ายที่บ้าน มาตรการล็อกดาวน์ทำให้พวกเขาต้องติดอยู่กับสมาชิกในบ้านที่ใช้ความรุนแรงโดยปราศจากการช่วยเหลือจากครู สมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ หรือคนในชุมชน ในขณะเดียวกัน ปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพจิตของเด็กกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กที่ใช้ชีวิตตามท้องถนน เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา และเด็กที่อยู่ในพื้นที่ ๆ มีการสู้รบ ก็มักถูกมองข้ามโดยสิ้นเชิง
องค์การอนามัยโลกระบุว่า โควิด-19 ทำให้บริการด้านสุขภาพจิตต้องหยุดชะงักหรือช้าลงลงในเกือบทุกประเทศทั่วโลก ทั้ง ๆ ที่ความต้องการบริการด้านนี้กำลังเพิ่มขึ้น งานศึกษาจาก 194 เมืองในประเทศจีน พบว่า ร้อยละ 16 ของผู้ตอบแบบสอบถาม บอกว่าตนเองมีอาการซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรงในช่วงการแพร่ระบาด และร้อยละ 28 มีอาการวิตกกังวลในระดับปานกลางถึงรุนแรง
ในแง่ของการรับมือ ยูนิเซฟได้สนับสนุนรัฐบาลและองค์กรภาคีให้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้พร้อมปรับรูปแบบการให้บริการสำหรับเด็ก ๆ เช่น ในประเทศคาซัคสถาน ยูนิเซฟได้เปิดช่องทางออนไลน์ให้คำปรึกษาสำหรับเด็กแบบตัวต่อตัว พร้อมจัดฝึกอบรมทางไกลสำหรับผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิต ในประเทศจีน ยูนิเซฟ และ Kuaishou บริษัทด้านสื่อออนไลน์ ร่วมกันจัดกิจกรรมออนไลน์เพื่อช่วยเด็กๆ ลดความวิตกกังวล
ในประเทศไทย ยูนิเซฟร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (Path2Health) ให้บริการปรึกษาออนไลน์แก่วัยรุ่นในเรื่องต่างๆ รวมถึงด้านสุขภาพจิต ตั้งแต่สี่โมงเย็นจนถึงเที่ยงคืนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านทาง เลิฟแคร์ สเตชั่น www.lovecarestation.com โดยเป็นบริการเฉพาะสำหรับวัยรุ่นที่เข้าถึงง่าย และเป็นมิตรกับวัยรุ่น นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว ยูนิเซฟยังร่วมกับภาคีภาครัฐและเอกชนจัดทำโครงการ The Sound of Happiness ฟังและเล่า = ความสุข นำเสนอพอดแคสต์ 13 ตอน บอกเล่าเรื่องราวการจัดการกับปัญหาด้านจิตใจสำหรับวัยรุ่น โดยผู้เชี่ยวชาญผ่านแอปพลิเคชั่น JOOX เพื่อช่วยให้เด็กและเยาวชนนำไปปรับใช้เพื่อรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและสุขภาวะของพวกเขา
ในปี 2564 นี้ ยูนิเซฟจะออกรายงานประจำสองปี ชื่อว่า State of the World's Children ซึ่งจะเน้นประเด็นด้านสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น เพื่อสร้างความตระหนักถึงความท้าทายในเรื่องนี้ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากขึ้น
นางเฮนเรียตตา กล่าวเสริมว่า "ถ้าเราไม่ทันได้ตระหนักถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหานี้ก่อนการแพร่ระบาด แน่นอนว่าตอนนี้เราต้องตระหนักแล้ว ประเทศต่าง ๆ ต้องเพิ่มการลงทุนในบริการและการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตสำหรับวัยรุ่นและผู้ปกครอง ทั้งในชุมชนและในโรงเรียน นอกจากนี้ เราต้องส่งเสริมพ่อแม่และผู้ดูแลเด็กให้มีความรู้และทักษะมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ ในครอบครัวที่เปราะบางจะได้รับการดูแลและปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสมที่บ้าน"
หมายเหตุ
ตัวเลขต่าง ๆ อ้างอิงจาก Dashboard on government responses to COVID-19 and the affected populations ของ ยูนิเซฟ ซึ่งวิเคราะห์ด้วยข้อมูลของ Oxford COVID-19 Government Response Tracker และ UN DESA Population Division, ที่รวบรวมขึ้นระหว่างวันที่ 11 มีนาคม 2563 ถึง 22 กุมภาพันธ์ 2564
นโยบายการกักตัวอยู่ที่บ้าน ถูกแบ่งได้ตามระดับต่าง ๆ ดังนี้
0 - ไม่มีมาตรการใด ๆ
1 - แนะนำไม่ให้ออกจากบ้าน
2 - งดเดินทางออกจากบ้าน ยกเว้นในบางกรณี ได้แก่ ออกกำลังกาย ซื้อของใช้ และการเดินทางที่มีนัดหมายสำคัญ
3 - งดเดินทางออกจากบ้าน ด้วยข้อยกเว้นที่เข้มงวด เช่น ออกจากบ้านได้เพียงสัปดาห์ละครั้ง หรือออกจากบ้านได้เพียงคนเดียวต่อครั้ง
เด็ก 332 ล้านคน คือตัวเลขคาดการณ์ขั้นต่ำ และหมายถึงเด็กในประเทศต่าง ๆ ที่มีการออกนโยบายตามระดับ 1-3 ข้างต้นที่ประกาศใช้ทั่วทั้งประเทศ เด็ก 139 ล้านคนเป็นจำนวนคาดการณ์ขั้นต่ำ และหมายถึงเด็กในประเทศที่ใช้นโยบายตามข้อ 2-3 ที่ประกาศใช้ทั่วทั้งประเทศ ข้อมูลนี้ไม่รวมจำนวนเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศที่ดำเนินมาตราการเหล่านี้ในบางพื้นที่เท่านั้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit