ยางพาราถือเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญของประเทศไทย ซึ่งการเคลื่อนไหวของราคายางมีผลอย่างมากต่อผู้ประกอบการ ดังนั้น การมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจึงจำเป็นในการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนในด้านผู้ลงทุน ความผันผวนของราคายางก็อาจเป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนได้
สำหรับผู้ลงทุนและผู้ประกอบการในไทยนั้น ส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการใช้ยางพาราล่วงหน้าในตลาด OSE หรือ TOCOM เดิมของญี่ปุ่น ในการจัดการความเสี่ยงหรือการทำกำไรจากราคายาง Mr. Kensuke Yaze จาก Japan Exchange Group (JPX) ได้ให้มุมมองว่า สินค้า Rubber Futures ในประเทศญี่ปุ่น นับว่ามีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมยางพาราล่วงหน้าและมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยญี่ปุ่นได้เริ่มเปิดเทรดยางพาราล่วงหน้า RSS3 Futures ในตลาด TOCOM เมื่อปี 1952 และปัจจุบันมีการย้าย RSS3 Futures มาซื้อขายในตลาด OSE ซึ่ง OSE RSS3 Futures มีปริมาณการซื้อขายในปี 2020 มากกว่า 1.1 ล้านสัญญา นับเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศจีน ด้วยเป็นสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนทั่วไปและเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนต่างชาติสามารถเข้าซื้อขายได้ นอกจากนั้น OSE RSS3 Futures ยังกำหนดว่ายางแผ่นรมควันที่จะส่งมอบต้องมีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทย
หากพิจารณาความสัมพันธ์ด้านราคา พบว่าราคา OSE RSS3 Futures และราคา Crude Oil WTI มีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ หากราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นตาม
และเมื่อเปรียบเทียบ OSE RSS3 Futures (OSE RSS3) กับ TFEX Japanese Rubber Futures (TFEX JRF) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ OSE RSS3 มีลักษณะสัญญาเป็น Physical Delivery (ส่งมอบเมื่อครบอายุสัญญา) ในขณะที่ TFEX JRF มีลักษณะสัญญาเป็น Cash Settlement (ชำระเงินกำไรขาดทุนตามส่วนต่างราคาซื้อขาย) พบว่า ราคายางพาราของทั้ง 2 ตลาดมีความสัมพันธ์กัน โดยระหว่างเดือนที่มีการซื้อขาย ราคาอาจมีความแตกต่างกันบ้าง แต่เมื่อครบอายุสัญญาราคายางจะเท่ากัน ทำให้ในระหว่างเดือนก่อนวันครบอายุสัญญา ผู้ลงทุนสามารถเข้าซื้อขายเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างราคาดังกล่าวได้
ดร.จักรพันธ์ ติระศิริชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์-อนุพันธ์ บมจ. ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) หรือ TFEX ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีการผลิตและส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลก ดังนั้น การที่ราคายางมีความผันผวน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดโอกาสในการทำกำไรจากส่วนต่างราคาในตลาดล่วงหน้า อย่าง TFEX JRF
จุดเด่นของ TFEX JRF คือ การ Link ราคากับ OSE RSS3 ของญี่ปุ่นซึ่งลักษณะของสัญญาของทั้ง 2 ตลาดจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่มีความต่างกันที่ TFEX JRF มีขนาดสัญญาที่เล็กกว่า จึงใช้เงินลงทุนน้อยกว่า และด้วยมีลักษณะสัญญาเป็น Cash Settlement จึงทำให้ผู้ลงทุนไม่ต้องกังวลเรื่องการส่งมอบ และแม้จะซื้อขายตามราคา OSE RSS3 แต่ด้วยไม่นำอัตราแลกเปลี่ยนมาคำนวณทำให้ผู้ลงทุนไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ TFEX JRF ยังมี Market Maker ที่คอยช่วยดูแลสภาพคล่องในการซื้อขาย ซึ่งสอดคล้องกับการกำหนดราคาซื้อขายของ OSE RSS3 ทำให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าซื้อขายได้โดยสะดวก
ด้านการติดตามข่าวสารด้านราคายางพาราล่วงหน้า ผู้ลงทุนสามารถติดตามราคายางพาราล่วงหน้าได้หลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์จากตลาดโดยตรง www.jpx.co.jp / www.tfex.co.th หรือ Application ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น Streaming, REFINITIV, TradingView, Bloomberg, Trading .com นอกจากนั้น ยังมี Application ของจีน ซึ่งผู้ลงทุนสามารถสอบถามรายละเอียดดังกล่าวได้จาก Broker ที่ใช้บริการ
ปิดท้ายด้วยกูรูผู้คร่ำหวอดในวงการเทรดยางพารา คุณภานุวัฒน์ เพ็ชรมาตร ผู้อำนวยการ ฝ่ายค้าหลักทรัพย์ บล. ฟิลลิป (ประเทศไทย) หรือ อ.อ้วน นั่งเทียน และคุณศักรินทร์ ลิมปโชติ (โกดุ่ย) ได้ให้มุมมองว่า การซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในปัจจุบันของผู้ลงทุนไทย สามารถซื้อขายได้หลายตลาด ไม่ว่าจะเป็น ตลาด SGX ในสิงคโปร์ ตลาด OSE ในญี่ปุ่น รวมถึงตลาด TFEX ในประเทศไทยด้วย ซึ่งในแต่ละประเทศอาจมีลักษณะสัญญาที่เหมือนกันและแตกต่างกันในบางจุด ดังนั้น ในการเลือกซื้อขายสิ่งที่ผู้ลงทุนต้องพิจารณา คือ การตั้งเป้าหมายในการลงทุน ว่าเป็น 1) การซื้อขายเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาสินค้า หรือยางจริงที่มีอยู่ในมือ ซึ่งเป็นการป้องกันความเสี่ยงในระยะสั้น หรือ 2) การซื้อขายเพื่อเก็งกำไร นอกจากการตั้งเป้าหมายในการลงทุนแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกอย่าง คือ การกำหนดกลยุทธ์ในการซื้อขาย เช่น การตั้งกำไรไว้ที่เท่าไร เมื่อถึงจุดนั้นต้องปิดเพื่อทำกำไร หรือ หากขาดทุนถึงจุดที่กำหนดไว้ ต้องยอมปิดหรือรู้จักตัดผลขาดทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เนื่องจากการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าจะมีการ Maker to Market คือ คำนวณกำไรขาดทุนและปรับอัตราเงินประกันทุก ๆ วัน
สำหรับสัญญา TFEX JRF พบว่ามีความคล้ายคลึงกับ OSE RSS3 มาก ดังนั้น หากผู้ลงทุนไทย ที่ยังไม่เคยซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในตลาดต่างประเทศ สามารถทดลองเข้าซื้อขาย TFEX JRF ได้ เพราะราคาที่ซื้อขายใน TFEX JRF เหมือนกันกับ OSE RSS3 และด้วยขนาดสัญญาที่เล็กกว่าประมาณ 5 เท่า ทำให้ใช้เงินลงทุนที่น้อยกว่า รวมถึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโอนเงินไปต่างประเทศ และปัจจุบัน TFEX JRF มี Market Maker ที่คอยดูแลเรื่องการวางราคา Bid / Offer ตลอดเวลาทำให้สามารถเข้าออกได้โดยง่ายและสะดวก
จากกราฟราคายางพาราล่วงหน้าในอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่า ราคายางพารามีความผันผวนตลอดเวลา ซึ่งผันผวนมากน้อยแล้วแต่ภาวะเศรษฐกิจของโลก หากมองย้อนกลับในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ราคายางพาราในปัจจุบันอยู่ในช่วงขาขึ้น อย่างไรก็ดี ในการซื้อขายยางพารา ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อราคายางพาราด้วย เช่น ราคาน้ำมัน ตัวเลขการนำเข้าส่งออกของจีน รวมถึงทิศทางแนวโน้มราคายางพาราล่วงหน้าที่ซื้อขายในประเทศจีน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit