พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 3/2563 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เพื่อรับทราบแผนการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ 557 โครงการ ความก้าวหน้าผลการติดตามการขอใช้พื้นที่ป่าสำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และความก้าวหน้าการดำเนินการคณะทำงานทางเทคนิคการพัฒนาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาโครงการขนาดใหญ่ที่พร้อมเสนอขอตั้งงบประมาณปี 65 ของ 4 หน่วยงาน จำนวน 6 โครงการ ประกอบด้วย โครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า จากแหล่งน้ำลำตะคองมายังโรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า จังหวัดนครราชสีมา โดยเทศบาลนครนครราชสีมา ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยเมืองพัทยา สถานีสูบน้ำดิบพร้อมระบบท่อส่งน้ำเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของจังหวัดปัตตานี และอีก 3 โครงการในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง จังหวัดเชียงราย โครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จังหวัดระยอง และโครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์-หนองค้อ-บางพระ จังหวัดชลบุรี
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การกำหนดเป้าหมายใหม่ในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญจะต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้ง 6 ด้าน และต้องเป็นโครงการที่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 64-66 โดยแผนการขับเคลื่อนโครงการสำคัญตามเป้าหมายเดิมที่ได้กำหนดไว้ 557 โครงการ พบว่า ได้รับงบประมาณก่อสร้างไปแล้ว จำนวน 31 โครงการ ดังนั้น จึงเหลือเป้าหมายการขับเคลื่อนโครงการสำคัญที่เริ่มก่อสร้างได้ในปี 64 เป็นต้นไป อีก 526 โครงการ แบ่งการขับเคลื่อนเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 โครงการอันเนื่องพระราชดำริ จำนวน 182 โครงการ ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 โครงการ อยู่ระหว่างก่อสร้าง 30 โครงการ โดยโครงการที่เหลือ 151 โครงการ จะเร่งผลักดันให้สามารถดำเนินการได้ทั้งหมดภายในปี 66 กลุ่มที่ 2 โครงการที่ต้องเตรียมเสนอ กนช. เป็นรายโครงการ จำนวน 131 โครงการ ประกอบด้วย โครงการขนาดใหญ่ (วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท) 68 โครงการ โครงการบูรณาการหลายหน่วยงานเชิงพื้นที่ 18 โครงการ เช่น โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก แก้มลิง 69 พื้นที่ เป็นต้น และโครงการที่มีลักษณะเฉพาะทางเทคนิค 45 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาบาดาลขนาดใหญ่ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล แผนพัฒนาระบบคลังข้อมูลและระบบตัดสินใจ เป็นต้น และกลุ่มที่ 3 โครงการที่ต้องรายงานความก้าวหน้าต่อ กนช. จำนวน 244 โครงการ เป็นโครงการสำคัญตามแผนแม่บทฯ ที่ดำเนินการตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการให้ สทนช. ทราบทุก 3 เดือน และให้หน่วยงานมอบหมายผู้รับผิดชอบในการแก้ไขและตรวจสอบข้อมูลการขับเคลื่อนโครงการสำคัญให้เป็นปัจจุบัน ผ่าน Application Thai Water Plan ซึ่ง สทนช. ได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการสำคัญได้ผ่านระบบออนไลน์บนฐานข้อมูลเดียวกัน
ในส่วนของโครงการขนาดใหญ่ที่พร้อมเสนอขอตั้งงบประมาณปี 65 จำนวน 6 โครงการ ที่ประชุมวันนี้ได้พิจารณาแล้วพบว่า มีเพียง 2 โครงการที่ผ่านการพิจารณา ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง จังหวัดเชียงราย ความจุ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พื้นที่รับประโยชน์ 18,900 ไร่ มีแผนงานก่อสร้าง 4 ปี (งบปี 65-68) และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จังหวัดระยอง ความจุ 40 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 30,000 ไร่ แผนงานก่อสร้าง 5 ปี (งบปี 65-69) ส่วนโครงการที่เหลืออีก 4 โครงการ ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานเจ้าของโครงการกลับไปทบทวนรูปแบบการดำเนินการให้สมบูรณ์ และส่งให้ สทนช. พิจารณา ก่อนเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป
“การประชุมในวันนี้ได้ร่วมกันพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ในเป้าหมายโครงการสำคัญ ซึ่งแต่ละโครงการใช้วงเงินงบประมาณสูง การเสนอขอตั้งงบประมาณ จึงต้องมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ของโครงการเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทุกภาคส่วน สามารถแก้ปัญหาระดับพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ในส่วนของโครงการของกรมชลประทาน 2 โครงการที่ผ่านการพิจารณาวันนี้ ขอให้เร่งรัดการออกแบบให้ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานอย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนศึกษาการบริหารจัดการน้ำทุกภาคส่วนให้มีความชัดเจน แสดงมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมโครงการ เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา และเร่งรัดขอใช้พื้นที่ป่าไม้ รวมทั้งเร่งดำเนินการด้านการสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ของโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อขอความเห็นจากคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำ ก่อนเสนอต่อ กนช. พิจารณาต่อไป” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการดำเนินงานในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญทั่วประเทศตามนโยบายรัฐบาล ที่ได้ดำเนินการตามแผนงานบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณปี 63 และงบกลาง (ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 63 เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 63 และเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 63) ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาน้ำบาดาล จำนวน 4,555 โครงการ งบประมาณ 3,685.1 ล้านบาท ได้ปริมาณน้ำบาดาล 83.62 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 55,300 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 201,645 ครัวเรือน ปัจจุบันแล้วเสร็จ 1,037 โครงการ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 3,518 โครงการ 2. โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 1,473 โครงการ งบประมาณกว่า 300.6 ล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จ 247 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,980 แห่ง และ 3. โครงการขุดลอกทางน้ำและแหล่งน้ำ จำนวน 13,341 โครงการ งบประมาณ 12,724.5 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณน้ำ 208.06 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 466,269 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 110,229 ครัวเรือน ปัจจุบันแล้วเสร็จ 301 โครงการ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา ครม.อนุมัติงบกลางเพื่อเตรียมการรับมือ แก้ไข และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝน สำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 63/64 รวมทั้งสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยประกอบด้วย โครงการพัฒนาน้ำบาดาล จำนวน 137 โครงการ งบประมาณ 1,330 ล้านบาท โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 68 โครงการ งบประมาณ 25 ล้านบาท และโครงการขุดลอกทางน้ำและแห่งน้ำอีก 854 โครงการ งบประมาณ 1,093.1 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานที่เสนอขอรับงบประมาณ จะต้องจัดทำรายละเอียดโครงการและดำเนินการตามกระบวนการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สทนช. จะติดตามเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายและจะประเมินผลโครงการที่ได้รับงบกลางทั้งหมดอย่างเคร่งครัดต่อไป