นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาล มีเป้าหมายที่จะพัฒนาอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพด้านวิชาชีพ และพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรม ๔.๐ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน จึงสนับสนุนให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพสู่ความเป็นเลิศในวิชาชีพแต่ละด้าน รวมทั้งให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ภารกิจของวิทยาลัยสารพัดช่างที่มีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น เน้นให้ประชาชนได้มีโอกาสฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจึงได้มอบหมายให้วิทยาลัยสารพัดช่างดำเนินการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามนโยบายเพื่อพัฒนากำลังคนสู่ศตวรรษที่ ๒๑ โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนของสถานศึกษาประเภทวิทยาลัยสารพัดช่างดำเนินการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นเฉพาะกลุ่มอาชีพ ให้มีทักษะ เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนที่ประกอบอาชีพเดิม หรือผู้ต้องการมีอาชีพใหม่ ผู้ว่างงานที่ต้องการ Re-Skills, Up-Skills, New-Skills เพื่อยกระดับความรู้และทักษะไปสู่ประกอบอาชีพที่ดีขึ้น เท่ากับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาสังคมให้เข้มแข็งขึ้น วิทยาลัยสารพัดช่างธนบุรี เป็นหนึ่งในสถานศึกษา ที่มีการจัดการเรียนการสอนวิชาชีพระยะสั้นที่หลากหลายสาขาวิชา อาทิ สาขาวิชาสมุนไพร สาขาการถ่ายภาพ และสาขาเทคโนโลยีความงาม
นายชานนท์ บุรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาสมุนไพรไทย กล่าวว่า สมุนไพร ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ นอกจากสามารถนำมาทำเป็นยารักษาได้แล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในการป้องกันและเสริมสร้างสุขภาพได้ ที่สำคัญยังสามารถนำมาสร้างงาน สร้างอาชีพได้อีกด้วย สาขาวิชาสมุนไพรจึงเป็นสาขาที่จะทำให้วิทยาลัยสารพัดช่างธนบุรี เป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนาวิชาชีพด้านสมุนไพรและการพัฒนาตนเองของผู้เรียนให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพภายใต้บริบทของการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยยึดแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีหลักปรัชญาที่ว่า ใฝ่เรียนรู้ อยู่พอเพียง เคียงคู่คุณธรรม นำชุมชน สำหรับเนื้อหาการเรียนการสอน คือ ศึกษาเกี่ยวกับการเลือกใช้สมุนไพรที่เป็นตัวหลักในสูตรต่างๆ การใช้วัสดุ อุปกรณ์ในการทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพื่องานอาชีพ การแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น การทำยาแก้ปวดเมื่อย จากเมล็ดลำไย การทำบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการคำนวณราคาต้นทุน และการกำหนดราคา โดยมีค่าสมัครเรียน ๑๖๐ บาท
นางสาววิมพ์วรา วงษ์ใหญ่ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาลัยสารพัดช่างธนบุรี เร่งผลักดันเพื่อดำเนินการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น และผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา ให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน สาขาเทคโนโลยีความงาม จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการศูนย์ฝึกอบรมระยะสั้นเสริมสวยเฉพาะทาง และให้คำปรึกษาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเสริมสวยสมัยใหม่ ประกอบด้วย การพัฒนาต่อยอดหลักสูตรเดิม และการพัฒนาหลักสูตรใหม่ สำหรับหลักสูตรนวดหน้าสปาเด้ง เป็นหลักสูตรที่มีการยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนโดยวิทยากรภายใน ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากสถานประกอบการภายนอก และเพิ่มขีดความสามารถในการใช้สื่อและเครื่องมือเทคโนโลยีความงามอย่างเต็มศักยภาพ นักเรียน นักศึกษา ที่มาเรียนในหลักสูตรนี้จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักสูตรสปาหน้าใส การใช้เครื่องสปาหน้าไคโอเย็น การใช้หน้ากากบำบัดด้วยแสง รวมทั้งการวางแผนประกอบอาชีพนวดหน้าเชิงธุรกิจ ซึ่งมีค่าสมัครเรียน ๓๐๐ บาท
หากสนใจหรือต้องการเรียนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาขาวิชาสมุนไพรไทย สาขาเทคโนโลยีความงาม หรือสาขาอื่นๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. ๐๒-๔๓๗-๕๓๗๑ หรือวิทยาลัยสารพัดช่างธนบุรี เลขาธิการฯ กล่าวปิดท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit