นายอุทัย เตียนพลกรัง ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดทำผังน้ำ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามที่กฎหมายได้ระบุไว้ และในปี 2562 สทนช. ได้ดำเนินการจัดทำแผนหลักการจัดทำผังน้ำ เพื่อกำหนดกรอบแนวทาง วิธีการศึกษาการจัดทำผังน้ำที่เหมาะสม กำหนดรูปแบบ แผนที่ผังน้ำให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและใช้ประโยชน์ได้แล้วเสร็จและในปีนี้
“สทนช. ได้คัดเลือกลุ่มน้ำแม่กลอง เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความสำคัญ มีแหล่งต้นน้ำลำธาร ทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศวิทยาที่มีคุณค่ายิ่ง เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน เกษตรกรรม การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อุตสาหกรรม เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เป็นแหล่งท่องเที่ยว และยังมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญคือ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์”
ลุ่มน้ำแม่กลองในบางพื้นที่ยังคงประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูง ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร โดยปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
สำหรับกระบวนการในการดำเนินการศึกษานั้น จะมีการศึกษาและทบทวนกายภาพของพื้นที่ การใช้ประโยชน์ที่ดินในอดีตถึงปัจจุบัน ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลจากแผนที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนที่แสดงโครงข่ายระบบระบายน้ำในปัจจุบัน ทิศทางการไหลของน้ำ วิเคราะห์สภาพและสาเหตุของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง แผนที่แสดงระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัย การบริหารจัดการอุทกภัย มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา แผนที่แสดงจุดประกาศภัยแล้ง การบริหารจัดการภัยแล้ง มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จากหน่วยงานต่างๆ พร้อมทั้งจัดทำแผนที่แสดงสิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางน้ำ ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อนำมากำหนดขอบเขตผังน้ำ โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์
ทั้งนี้ ในการศึกษาจะต้องจัดทำแผนปรับปรุง ฟื้นฟูทางน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับทางน้ำสายหลัก และในกรณีที่เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำจะต้องเสนอแนะขนาดของช่องเปิดของอาคารในลำน้ำ รวมทั้งดำเนินการศึกษาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งแสดงรายละเอียดข้อมูลของผังน้ำ ประกอบด้วย ขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมถึงตลอดทั้งสองฝั่งลำน้ำ ขอบเขตพื้นที่ผังน้ำ ขอบเขตโซนพื้นที่ในผังน้ำ (พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมระดับสูง กลาง ต่ำ ระดับต่างๆ) และรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีเป้าหมายในการลดความเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งในกรณีที่ได้รับอนุญาตให้มีการพัฒนาในพื้นที่ผังน้ำ จะมีหลักเกณฑ์ในการพัฒนาและการก่อสร้างเพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินจากน้ำท่วมและความเสี่ยงจากการก่อสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในพื้นที่ด้วย
“ซึ่งในการศึกษาดังกล่าวได้กำหนดให้มีการประชุมผังน้ำครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศ) โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำแม่กลอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ความเป็นมาของโครงการ และแนวคิดในการศึกษาโครงการของการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำแม่กลองให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงขอเรียนเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ในวันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563 เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ณ ห้องสังขละบุรี โรงแรมริเวอร์แคว กาญจนบุรี อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หมายเลขโทรศัพท์ 081-9645202 หรือ 081-0731354” นายอุทัย เตียนพลกรัง กล่าว
สำหรับขอบเขตพื้นที่การศึกษาโครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำแม่กลอง ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 257 ตำบล 34 อำเภอ 8 จังหวัด ได้แก่ ตาก อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม มี 17 ลุ่มน้ำสาขา พื้นที่รวม 30,228 ตารางกิโลเมตร
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit