ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน แจงข้อมูลการจ้างงานและการจ้างงานแบบรายชั่วโมง แก่นายพัฒนา สุธีระกุลชัย ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และคณะ เข้าพบเพื่อแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง พร้อมหารือในประเด็นการจ้างงาน โดยมี ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องประสงค์ รณะนัทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน ด้วยการพยุงการจ้างงานในหลายรูปแบบ เช่น การส่งเสริมสภาพคล่องให้ภาคเอกชน ด้วยการปรับอัตราเงินสมทบใหม่ จัดโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อให้สถานประกอบกิจการมีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการและเสริมสภาพคล่องให้สามารถรักษาการจ้างงานได้อย่างต่อเนื่อง การปรับอัตราส่วนการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 จากร้อยละ 50 เหลือเพียงร้อยละ 10 เป็นต้น
รมช.แรงงาน กล่าวต่อไปว่า การพยุงการจ้างงานโดยภาครัฐ ได้แก่ การให้บริการจัดหางานผ่านโครงการและกิจกรรมตามภารกิจของกรมการจัดหางาน จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางาน Part-time เพื่อให้สามารถจ้างงานระยะสั้น ซึ่งจะช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จัดโครงการเพื่อให้เกิดการจ้างงานระยะสั้น ด้วยการจ้างผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐ จัดโครงการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงาน มีเบี้ยเลี้ยงระหว่างฝึกอบรม ล่าสุดจะมีการจัดงาน Job Expo Thailand 2020 ระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2563 ที่ Bitec บางนา มีตำแหน่งงานว่างกว่าล้านตำแหน่ง
นายพัฒนา สุธีระกุลชัย ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สถานการณ์การจ้างงานในปัจจุบัน มีการปรับตัวลดลง ผู้มีงานทำจำนวนกว่า 37.1 ล้านคน สาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ งานก่อสร้าง โรงแรม/ภัตตาคาร การขายส่ง-ขายปลีก ลดลงเล็กน้อย ส่วนการขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากมาตรการและรณรงค์ให้อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบให้เกิดการว่างงาน แรงงานในระบบกลายเป็นแรงงานนอกระบบ ถึงร้อยละ 58.7 สาเหตุจากการเลิกกิจการ
ถึงแม้กลุ่มผู้ค้าปลีกจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวไม่มากนัก แต่เพื่อพยุงการจ้างงาน กลุ่มผู้ค้าปลีกจึงต้องการหารือเพื่อขอรับความช่วยเหลือ กลุ่มผู้ค้าปลีกที่มาร่วมหารือในครั้งนี้ อาทิ ผู้จัดการทั่วไปของ CP All ,ผู้แทนจาก Makro , BBQPLAZA, Central Group ,Home Pro ,Tesco Lotus โดยกลุ่มผู้ค้าปลีกเสนอให้ช่วยเหลือหลายประเด็น อาทิ อัตราส่วนการจ้างงานคนพิการจาก 100 คน: 1 คนเป็น 200 คน:1 คน ขยายระยะเวลาการผ่อนผันการจ้างงานคนพิการทดแทนรายเดิมที่ลาออกไป จากเดิมต้องจ้างทดแทนภายใน 45 วัน ขยายเป็นจ้างทดแทนภายใน 60 วัน การลดหย่อนภาษีสำหรับการจ้างงานผู้สูงอายุ ให้สามารถลดหย่อนได้มากกว่า 15,000 บาท รับรองหลักสูตรการฝึกที่เป็นในรูปแบบออนไลน์ ปรับหลักสูตรการฝึกที่เกี่ยวข้องกับด้านอาหารให้สอดคล้องและบูรณาการร่วมกับกรมอนามัย และปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับการจ้างงานกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจบใหม่
การจ้างงานแบบรายชั่วโมง ต้องการให้สามารถจ้างเป็นรายชั่วโมงได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานอาจกำหนดประเภทหรือลักษณะงานที่สามารถจ้างงานแบบรายชั่วโมงได้ รวมถึงกำหนดสัดส่วนการจ้างรายชั่วโมง เพื่อเป็นการพยุงการจ้างงาน เนื่องจากมีแรงงานส่วนหนึ่งต้องการทำงานเป็นรายชั่วโมง เช่น กลุ่มผู้มีงานประจำอยู่แล้ว แต่ต้องการมีอาชีพหรือรายได้เสริม กลุ่มแม่บ้าน และนักเรียน นักศึกษา เป็นต้น
“ข้อเสนอดังกล่าว กระทรวงแรงงานขอรับไปพิจารณา ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้างต้องนำข้อมูลและรายลเอียดที่เกี่ยวข้องมากำหนดแนวทางในการการปฏิบัติ และให้ความช่วยเหลือต่อไป การจ้างงานแบบรายชั่วโมงนั้น จะเป็นการเพิ่มช่องทางการจ้างงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การทำงานที่เปลี่ยนไป รวมทั้งสนับสนุนให้แรงงานมีโอกาสทำงานได้มากขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับนายจ้าง อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน ต้องพิจารณาความเหมาะสมเกี่ยวกับการคุ้มครองและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องแรงงาน เพื่อรองรับการทำงานรูปแบบวิถีใหม่ (New normal) ที่เกิดขึ้นทั้งระบบ ขอเสนอในวันนี้ จึงร่วมกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและจะช่วยผลักดันให้เกิดประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย” รมช.แรงงาน กล่าวในท้ายสุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit