สทนช. ลงพื้นที่กาญจนบุรี เปิดตัว “โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำแม่กลอง” ผ่านการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

23 Sep 2020

สทนช. เปิดตัวศึกษาโครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำแม่กลอง ผ่านรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จะใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ในทุกมิติอย่างยั่งยืน

สทนช. ลงพื้นที่กาญจนบุรี เปิดตัว “โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำแม่กลอง” ผ่านการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

ณ ห้องสังขละบุรี โรงแรมริเวอร์แคว กาญจนบุรี อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำแม่กลอง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ความเป็นมาของโครงการ และแนวคิดในการศึกษาโครงการของการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำแม่กลองให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการ โดยมีนายอุทัย เตียนพลกรัง ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวรายงาน มีปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นผู้มอบของที่ระลึก และมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดในลุ่มน้ำแม่กลอง ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ประกอบการ กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มเกษตรกร สื่อมวลชนและประชาชนในพื้นที่จากจังหวัดกาญจนบุรี ตาก อุทัยธานี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาครและสมุทรสงคราม รวมจำนวน 265 คน

นายอุทัย เตียนพลกรัง กล่าวว่า พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดทำผังน้ำ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามที่กฎหมายได้ระบุไว้ และในปี 2562 สทนช. ได้ดำเนินการจัดทำแผนหลักการจัดทำผังน้ำ เพื่อกำหนดกรอบแนวทาง วิธีการศึกษาการจัดทำผังน้ำที่เหมาะสม กำหนดรูปแบบ แผนที่ผังน้ำให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและใช้ประโยชน์ได้แล้วเสร็จและในปีนี้ สทนช. เลือกลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่สำคัญเนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ มีแหล่งต้นน้ำลำธารและระบบนิเวศวิทยาที่มีคุณค่ายิ่ง เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน เกษตรกรรม การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อุตสาหกรรม เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เป็นแหล่งท่องเที่ยว และยังมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญคือ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ แต่อย่างไรก็ตามลุ่มน้ำแม่กลองในบางพื้นที่ยังคงประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูงอีกด้วย

สำหรับกระบวนการในการดำเนินการศึกษานั้น จะมีการทบทวนกายภาพของพื้นที่ การใช้ประโยชน์ที่ดินในอดีตถึงปัจจุบัน จากข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การวิเคราะห์สภาพและสาเหตุของการเกิดภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ เพื่อการวิเคราะห์กำหนดขอบเขตผังน้ำ

ทั้งนี้ ในการศึกษาจะครอบคลุมข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงอาคารในกรณีที่เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ และข้อเสนอแผนปรับปรุงฟื้นฟูทางน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับทางน้ำสายหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ดำเนินการจัดเตรียมระบบสารสนเทศโครงการ ซึ่งแสดงรายละเอียดข้อมูลของผังน้ำ ประกอบด้วย เส้นทางน้ำ ทางน้ำหลาก พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและประชาชนใช้ประกอบในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีเป้าหมายในการลดความเสี่ยงของภัยจากน้ำต่อการดำรงชีวิตและทรัพย์สิน

“สทนช. วางแผนจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำแม่กลองแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564 โดยจะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน คณะกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดในลุ่มน้ำแม่กลอง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จำนวน 4 ครั้ง เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพิจารณา พร้อมสะท้อนปัญหาและความต้องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม หน่วยงานที่ปฏิบัติงานสามารถนำผังน้ำไปใช้สนับสนุนแผนงานการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมทั้งการบริหารจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ” ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สทนช. กล่าวในตอนท้าย