กรมส่งเสริมการเกษตร ปูทิศทางกาแฟไทย เล็งหนุน GI สร้างอัตลักษณ์ตลาดท้องถิ่น กรมส่งเสริมการเกษตร มีศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (เกษตรที่สูง) ในสังกัดรวม 8 ศูนย์ ในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน พะเยา เลย และกาญจนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมและการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตพืชให้แก่เกษตรกรชาวไทยภูเขา เกษตรกรในพื้นที่สูง และเกษตรกรทั่วไปในเขตพื้นที่รับผิดชอบภายใต้สำนักงานเกษตรจังหวัดนั้น ๆ
ล่าสุด นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อติดตามการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในทุกอำเภอ โดยเฉพาะศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จ.แม่ฮ่องสอน (เกษตรที่สูง) พบว่า กาแฟแม่ฮ่องสอนมีความหอม รสชาติดี และปัจจุบันผู้บริโภคให้ความนิยมกาแฟอราบิก้าและโรบัสต้าเป็นอย่างมาก
“จากประสบการณ์การดื่มกาแฟในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยล้วนให้กลิ่นและรสชาติที่ดีและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละท้องถิ่น ในขณะที่เมื่อสอบถามผู้ประกอบการในตลาดกาแฟพบว่าผลผลิตเมล็ดกาแฟไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดผู้บริโภค ผมเองมีแนวคิดว่า การแบ่งชั้นตลาด ตั้งแต่ ความต้องการกาแฟในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ถือเป็นการสร้างแบรนด์ประจำท้องถิ่นหรือชุมชนเกษตรนั้น ๆ ด้วย การส่งเสริมสนับสนุนมาตรฐานเกษตร GI จะเป็นการสร้างการรับรู้ถึงอัตลักษณ์ของกาแฟในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันได้ เป็นการเปิดโอกาสให้คอกาแฟได้มาลิ้มลองและสัมผัสกลิ่นรสของกาแฟ ที่ปลูกในแต่ละพื้นที่ สร้างรายได้ให้ชุมชน” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
นอกจากนี้ เสียงสะท้อนแนวคิดจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "กาแฟพืชเศรษฐกิจความหวังที่ยั่งยืน เกษตรกร บนพื้นที่สูง" ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จ.แม่ฮ่องสอน (เกษตรที่สูง) เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งมีเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟแม่ฮ่องสอน Young Smart Farmer เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เจ้าหน้าที่โครงการหลวงในฐานะหน่วยงานภาคีเครือข่าย และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานรวมกว่า 200 คน ได้สะท้อนมุมมองต่อทิศทางการผลิตกาแฟในประเทศไทยว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในประเทศยังมีกระบวนการผลิตที่ไม่ตรงตามความต้องการของตลาดเท่าที่ควร ทำให้ผลผลิตที่จำหน่ายได้มีปริมาณน้อย รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีการเกษตร การจัดเก็บและขนส่งผลผลิตยังต้องการความพิถีพิถัน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อกลิ่นและรสของกาแฟด้วย ดังนั้น การพัฒนากาแฟไทยให้เติบโตไปในทิศทางที่ดี สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศ จึงต้องพัฒนาทั้งระบบในทุกกระบวนการ ตั้งแต่กระบวนการผลิต พื้นที่ปลูก การแปรรูป บรรจุภัณฑ์ จนไปถึงตลาดและช่องทางการจำหน่าย
ประการแรก แจ้งข้อมูลการเพาะปลูกที่เป็นปัจจุบัน วิธีการคือ ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกภาครัฐนำไปวางแผนในการจัดการผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดให้สามารถจำหน่ายได้หรือมีผู้รับซื้อ เป็นส่วนสำคัญแรกเสมือนการวางแผนก่อนนำสินค้าออกมาขายตามตลาดแต่ละแห่ง พูดง่าย ๆ คือ ภาครัฐรับบทเป็นพ่อค้าที่จะสั่งของมาขาย เกษตรกรคือคนที่ส่งของให้พ่อค้านำไปขาย พ่อค้าเป็นผู้ที่รู้ว่าจะนำของไปขายที่ใดบ้างและต้องสั่งของมาจำนวนเท่าไหร่ ตลาดไหนขายดี ตลาดไหนขายได้มากหรือน้อย ดังนั้น เมื่อโรงงานมาแจ้งว่าผลิตสินค้าแล้วกี่ชิ้น พ่อค้าจะวางแผนกระจายสินค้าไปตามตลาดต่าง ๆ เมื่อเห็นว่าสถานการณ์ไม่ดีขายได้น้อย พ่อค้าจะแจ้งโรงงานให้หยุดผลิตสินค้า ซึ่งก็เหมือนกับการที่รัฐมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดอันจะทำให้ราคาตกต่ำ เกษตรกรมีผลตอบแทนที่เป็นรายได้น้อย และขาดทุนในที่สุด จะเห็นได้ว่าหากเกษตรกรไม่ขึ้นทะเบียนการเพาะปลูกซึ่งเป็นการแจ้งข้อมูลสินค้าที่จะผลิตออกไปขาย ก็จะทำให้พ่อค้าไม่ทราบว่ามีสินค้าที่โรงงานตั้งระบบสั่งผลิตไว้จำนวนเท่าไหร่ ไม่สามารถสั่งหยุดการผลิตเท่ากับจำนวนที่ตลาดต้องการได้ ทำให้สินค้าที่ผลิตเกินและขายไม่ได้นั่นเอง
ประการที่สอง การลงทุน เกษตรกรหลายรายอาจประสบกับปัจจัยเรื่องเงินทุนตลอดจนเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาดเท่าที่ควร ซึ่งภาครัฐก็มีนโยบายเกี่ยวกับด้านการเงินในการช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ทางเลือกหนึ่งในการไม่สร้างหนี้ที่เกินกำลังตนเองลำพังจะแบกรับไหว คือความสามัคคี เช่น การรวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ หรือขอจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตามการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น ในส่วนนี้มีหัวใจสำคัญคือการบริหารจัดการที่ดี สำรวจความสามารถและความถนัดของสมาชิกกลุ่ม และให้สมาชิกทำหน้าที่ในแต่ละส่วนของกลุ่ม เช่น คนที่คุยเก่งเป็นที่รักของชุมชน ให้เป็นตัวแทนในการเจรจากับลูกค้า ส่วนคนที่มีความละเอียดรอบคอบและซื่อสัตย์ให้จัดการบัญชีซื้อขาย เป็นต้น ก็จะช่วยลดภาระของแต่ละรายบุคคลลงไป ทำให้แต่ละคนได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มกำลัง
ประการที่สาม คุณภาพต้นพันธุ์และพื้นที่ปลูก จะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างแปลงเกษตรให้ดี ใช้ต้นพันธุ์ดีในการเพาะปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ซึ่งพื้นที่สูงมีผลทำให้กาแฟมีรสชาติดี เป็นอีกกระบวนการสำคัญที่หากการผลิตไม่ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด ก็ไม่สามารถขายสินค้าได้ เปรียบเสมือนสินค้ามีตำหนิ หรือผลิตผิดสเปค หรือใช้งานไม่ได้ ทำให้ราคาตกหรืออาจถึงขั้นลูกค้าไม่รับซื้อ ดังนั้น การใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ เริ่มตั้งแต่เลือกวัตถุดิบที่ดีคือต้นพันธุ์ดีแข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลง เหมาะกับสภาพพื้นที่และอากาศ ออกแบบแปลงและระยะห่างระหว่างต้นเหมาะสมต่อการให้ผลผลิตคุณภาพสูง เช่น ปลูกต้นกาแฟห่างกัน 2 เมตร จะทำให้ได้ผลผลิตกาแฟเมล็ดใหญ่กว่าการปลูกในระห่างของแต่ละต้นชิดกัน จากนั้นก็บำรุงดูแลรักษาต้นกาแฟ ตัดแต่งกิ่งถ้าปล่อยให้กิ่งสูงชะลูดผลผลิตจะกระจุกไม่ได้ประสิทธิภาพ รวมทั้งทำความสะอาดแปลง เปรียบเสมือนคอยจับตาดู ไม่ให้เครื่องจักรทำงานผิดพลาด ซึ่งอาจส่งผลเสียหายต่อสินค้าที่ผลิตออกมา
ประการที่สี่ การเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่วนนี้สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่อได้สินค้าออกมาแล้วการปรุงรสให้เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าก็ส่งผลให้สินค้าขายดิบขายดีไม่เหลือค้างสต๊อก กล่าวคือการเก็บเกี่ยว การจัดเก็บ และการขนส่งเมล็ดกาแฟ หากตากแดดโดยไม่มีการพลิกกลับเมล็ดกาแฟ ก็อาจทำให้สินค้ามีความชื้นไม่เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ ในส่วนนี้สามารถใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี เช่น เครื่องวัดความชื้น เข้ามาช่วยได้ นอกจากนี้ การนำผลผลิตเมล็ดกาแฟไปเก็บไว้ใกล้สถานที่มีกลิ่น เช่น เล้าหมู ก็จะส่งผลต่อกลิ่นหอมของกาแฟได้ เปรียบเหมือนลูกค้าชอบกลิ่นกาแฟแต่โรงงานดันใส่ผงปรุงรสหมูสับลงไป ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาแล้วแทนที่จะขายดี กลับขายได้ราคาถูก เพราะคนไม่นิยม
ประการที่สุดท้าย การตลาดและเครือข่าย ส่วนนี้เป็นความไว้ใจจากลูกค้า การรวมกลุ่มถือเป็นวิธีการสร้างความไว้วางใจได้เป็นอย่างดี เช่น การรวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ หรือขอจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตามการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น การมีระบบจัดส่งสินค้าที่ดี จัดส่งชนิดสินค้าได้ตรงตามความต้องการ ตรงตามจำนวน และตรงตามเวลา จะทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจและเชื่อถือในการสั่งสินค้ากับกลุ่มนั้น ๆ อีกทั้งการรวมกลุ่มยังเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ลูกค้ารายใหญ่ มีกำลังซื้อสินค้าสูง และสั่งสินค้าอย่างต่อเนื่องด้วย
จากการลงพื้นที่ของรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อตามรอยกาแฟตลอดกระบวนการ ตั้งแต่พูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ตลอดจนผู้ประกอบการและตลาดรับซื้อกาแฟ ทำให้ทราบว่าสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นไม่ว่าจะเป็นการแจ้งข้อมูลการเพาะปลูกที่เป็นปัจจุบัน การลงทุน คุณภาพต้นพันธุ์และพื้นที่ปลูก
การดูแลรักษาหรือการจัดการแปลง การเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงการตลาดและเครือข่าย กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อก้าวให้ทันกับกระแสความนิยมของผู้บริโภคหรือคอกาแฟยุคใหม่ ดังนั้น เกษตรกรและหน่วยงานภาคการเกษตรทุกส่วนเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่ต้องร่วมกันเป็นผู้กำหนดทิศทางกาแฟของประเทศ