ภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทยส่งสัญญาณดีจับตากลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม ยา-เวชภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค และบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มฟื้นก่อน ด้านภาครัฐ องค์กรธุรกิจและเอกชนระดมความคิดเปิดเวทีเสวนาหัวข้อ ”การปรับตัวของอุตสาหกรรมการผลิตแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ในยุคนิวนอร์มอล” ชี้ทางรอดผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวใช้เทคโนโลยี พัฒนาผลิตภัณฑ์ และเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคยุคที่มีการผลักดันให้เปลี่ยนแปลงจากการระบาดของโควิด พร้อมร่วมแถลงข่าวความพร้อมการจัดงานโพรแพ็ค เอเชีย 20-23 ตุลาคมนี้ แนะผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการผลิตใหม่จากบริษัทชั้นนำ พร้อมเปิดเวทีเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าทั่วโลกผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์ม
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตว่า “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นสิ่งสำคัญสำหรับวันนี้และอนาคต สามารถช่วยเสริมสร้าง ศักยภาพในการผลิตของผู้ประกอบการ ช่วยสร้างสินค้าให้มีความแตกต่าง นอกจากนี้การนำ วทน. มาใช้ใน การทดสอบ วิเคราะห์ สอบเทียบ และรับรองสินค้าให้ได้มาตรฐานระดับสากลเป็นสิ่งจำเป็น ที่จะช่วยสร้าง ความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคค ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังช่วย ในด้านการส่งออกได้ วิกฤตโควิด-19 ทำให้เรามองเห็นทั้งปัญหาและชีวิตวิถีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่าง ชัดเจน ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวและมองไปข้างหน้า ต้องเร่งสร้างผลิตภัณฑ์/สินค้าที่มีความแตกต่าง ตอบ โจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงตาม New Normal ที่ผู้บริโภคนั้นมีความ ต้องการสินค้าผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับการจำหน่าย สินค้าผ่านทั้ง E-Commerce และ ออนไลน์มากขึ้น ซึ่ง วว. พร้อมเป็น Total Solution ช่วยผู้ประกอบการ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างครบวงจร ตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง ถึงปลายทาง เพื่อร่วม ขับเคลื่อน สร้างโอกาสทางธุรกิจ เสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ ภายในงานโพรแพ็ค เอเชีย 2020 ครั้งนี้ วว. ได้จัดแสดงศักยภาพผลงานการวิจัยและงานบริการที่ วว. ให้บริการอย่างครบวงจรตลอดทั้ง value chain ในการผลิตสินค้า โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการท่าน ทั้งยังจัดแสดง Show Case ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ด้วยเทคโนโลยี วว. ตลอดจนนำเสนอผลวิจัยเด่นที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงมีจัด แสดงศักยภาพผลงานการวิจัยและผลงานการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย ภายใต้ โครงการ BrandDNA ตลอดจนการ
เปิดรับสมัครผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการอีกด้วย นอกจากนี้ยัง มีการจัดงานสัมมนา ในหัวข้อเรื่อง “กุญแจสู่ความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบสู่ท้องตลาด” ประกอบด้วยหัวข้อที่น่าสนใจมากมายเพื่อให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ในการพัฒนาสินค้า เพื่อให้สามารถวางจำหน่ายได้จริง”
ด้านนางวันเพ็ญ รัตนกังวาล ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงด้านการพัฒนาและความสำคัญของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ว่า “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีความสำคัญมากต่อภาคธุรกิจในวันนี้ เป็นทั้งการสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ใหม่และเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์เดิมให้สูงขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายและตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภค โดยนอกจากต้องมีความสวยงามสะดุดตาแล้ว ต้องคำนึงถึงเรื่องการปกป้องผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยปลอดเชื้อ ช่วยยืดอายุของผลิตภัณฑ์ให้นานขึ้น ป้องกันความเสียหายแก่ผลิตภัณฑ์ได้ดี ลดต้นทุนการผลิต มีความพร้อมในการขนส่ง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย
สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์นั้น กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้จัดกิจกรรมการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2563 (ThaiStar Packaging Awards 2020) ขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการพัฒนาความสามารถและความคิดสร้างสรรค์แก่นักออกแบบชาวไทย ผู้ประกอบการ รวมถึงนักศึกษา ซึ่งผลงานการประกวดจะนำไปจัดแสดงในงานโพรแพ็ค เอเชีย 2020 โดยในปีนี้มีผลงานกว่า 500 ชิ้น จึงขอเชิญผู้ประกอบการและผู้สนใจให้เข้าร่วมกิจกรรมที่ทางกรมฯตั้งใจจัดขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้และพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ของไทยในครั้งนี้ ร่วมชมผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่เข้าร่วมประกวด และจะมีการมอบรางวัลให้กับผู้ชนะการประกวดในวันที่ 20 ตุลาคม ที่งานอีกด้วย“
ส่วนความเห็นจากผู้จัดงานนั้น นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ผู้จัดงานโพรแพ็ค เอเชีย 2020 กล่าวว่า จากการได้แลกเปลี่ยนความคิดกับผู้ประกอบการและบริษัทชั้นนำของโลก ส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมการผลิตและผู้ประกอบการไทยด้วยการสร้างมาตรฐานและคุณภาพที่ผ่านมา โดยเห็นว่าไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการผลิตในทุกระดับ ผู้ประกอบการมีความรู้ความสามารถในการปรับตัว ทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการใช้ข้อได้เปรียบด้านคุณภาพและความหลากหลายของวัตถุดิบภายในประเทศมาผลิตและเพิ่มมูลค่า
แม้จะยังอยู่ในภาวะโควิด-19 แต่เราเริ่มเห็นสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นสินค้าจำเป็นเช่น กลุ่มอาหาร ยา-เวชภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค และบรรจุภัณฑ์ เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นและน่าจะฟื้นตัวก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมถึงประเทศไทยยังได้รับการยอมรับว่าควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ทำให้คู่ค้าจากทั่วโลกมีความมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรใช้ข้อได้เปรียบนี้มาพัฒนาเป็นจุดขายและปรับให้ตรงกับช่องทางการขายในปัจจุบัน พร้อมศึกษาพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคยุคชีวิตวิถีใหม่อย่างเข้าใจ สำหรับผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ นั้นก็จะต้องมีการสร้างแบรนด์และผลิตภัณฑ์ให้มีความยั่งยืน พร้อมทั้งมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ
ด้านความร่วมมือในการจัดงานโพรแพ็ค เอเชีย 2020 นั้น เราได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ องค์กรธุรกิจ และภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ภายในงานฯ นอกจากจะมีการจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเครื่องจักรในภาคการผลิต แปรรูป และบรรจุภัณฑ์แล้ว ยังเปิดประสบการณ์ให้กับผู้เยี่ยมชมงานได้สัมผัสถึงอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่มีทั้งการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) หุ่นยนต์ (Robot) อินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IOT : Internet of Things) มาใช้ในการปฏิบัติงานและเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสู่ยุคดิจิตอล (Digital Transformation) แล้ว ยังได้เพิ่มรูปแบบของการจัดกิจกรรมแสดงสินค้าเสมือนจริงในช่องทางออนไลน์ (Virtual Exhibition) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการช่วยก้าวข้ามข้อจำกัดด้านการเดินทางของผู้จัดแสดงงานและผู้เข้าเยี่ยมชมงานทั้งในและต่างประเทศ โดยระบบที่นำมาใช้จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถชมการจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีของผู้ร่วมจัดแสดงงานจากทั่วโลกได้ สามารถนัดหมายเพื่อเจรจาธุรกิจล่วงหน้า รวมถึงชมกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ที่จะเกิดขึ้นภายในงานฯ ได้ตลอดระยะเวลาของการจัดงานฯ
ส่วนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ได้มีการดำเนินการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐานของ อินฟอร์มา ออลซีเคียว (Informa AllSecure) และตามมาตรฐานที่ ศบค. กำหนด อาทิ การควบคุมความหนาแน่นของผู้ร่วมจัดแสดงงานและผู้เข้าเยี่ยมชมงาน การจัดวางพื้นที่และการเว้นระยะห่างของทางเดิน การลดการสัมผัสด้วยระบบการลงทะเบียนและบัตรเข้างานอิเล็กทรอนิกส์ (e-badge) การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการแสดงข้อมูลงานฯ ผ่านโทรศัพท์มือถือ คาดว่างานฯ ในปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 23,000 คน โดยเป็นกลุ่มผู้เข้าชมงานในประเทศเป็นหลัก
สำหรับงานโพรแพ็ค เอเชีย 2020 นั้น เป็นงานแสดงสินค้าด้านการผลิต แปรรูป และบรรจุภัณฑ์ที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และเป็นงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่สุดงานหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม ยา-เวชภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ โดยงานมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 23 ตุลาคม 2563 ณ. ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ผู้สนใจสามารถค้นหารายละเอียดและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.propakasia.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit