“อาชีวะ” ฝึกประสบการณ์ต่างแดน สาขาวิชาพืชศาสตร์

30 Sep 2020

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ส่งนักศึกษา สาขาวิชาพืชศาสตร์ จำนวน 64 คน เดินทางไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สาขาวิชาพืชศาสตร์ ในโครงการความร่วมมือทวิภาคี ไทย – อิสราเอล ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง

“อาชีวะ” ฝึกประสบการณ์ต่างแดน  สาขาวิชาพืชศาสตร์

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติด้านการเกษตรในเขตอราวา The Arava International Center For Agricultural Training (AICAT) ระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2563 ถึง 30 มิถุนายน 2564 ณ เมือง Arava ประเทศอิสราเอล ซึ่งได้จัดให้มีการปฐมนิเทศนักศึกษา ในวันที่ 29 กันยายน 2563 ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี

นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สอศ.ได้ดำเนินงานความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนทวิภาคี สาขาวิชาพืชศาสตร์ ไทย - อิสราเอล ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน และมีสถานศึกษาที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์การเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียน นักศึกษา ก่อนการเข้าร่วมโครงการจำนวน 3 ศูนย์ ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ โดยในปัจจุบันได้ส่งนักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมโครงการมาแล้ว จำนวน 20 รุ่น รวมนักเรียน นักศึกษาทั้งสิ้น 2,273 คน และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงมีมาตรการป้องกัน ตามนโยบายของประเทศอิสราเอล ซึ่งเมื่อนักศึกษาเดินทางถึงสนามบินประเทศอิสราเอล จะมีเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงาน มารับนักศึกษาและดูแลตลอดการเดินทางจนถึงเขตพื้นที่ Arava ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลชุมชนเมือง ทำให้ปลอดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) และระหว่างการพำนักอยู่ในอิสราเอล นักศึกษาทั้งหมดจะได้รับการดูแลทั้งในด้านความเป็นอยู่ สุขภาพ ทั้งนี้ นักศึกษาทุกคนจะได้รับการประกันสุขภาพ รวมถึงการรักษาตัว กรณีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วย

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวให้โอวาท กับนักศึกษาว่า การเข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นโอกาสอันดียิ่งที่นักศึกษาทุกคนจะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ได้เรียนรู้ถึงกระบวนการคิดค้นนวัตกรรม ในการเกษตร ได้เรียนรู้การเป็นมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จด้านการเกษตร ผ่านการเรียนรู้แบบ Learning by doing โดยระยะเวลา 9 เดือนนี้ จะเป็นเวลาที่คุ้มค่ามากที่สุด ขอให้นักศึกษา ทุกคนได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และนำความรู้ที่ได้รับเข้าสู่ตลาดแรงงานและประกอบธุรกิจด้านเกษตรอย่างภาคภูมิ ตลอดจนนำความรู้มาเผยแพร่สู่น้องๆ และเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป และในหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดทิศทางการพัฒนาในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการสร้างความยั่งยืนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อเชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก โดยรัฐบาลเน้นย้ำและให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ สามารถอาศัยทุนความได้เปรียบของประเทศไทยในความหลากหลายเชิงชีวภาพมาขับเคลื่อน ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความกินดี อยู่ดี ให้กับประชาชนชาวไทยในทุกภูมิภาค และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้

ทั้งนี้ เมื่อนักศึกษาทั้งหมดกลับจากการฝึกประสบการณ์วิชาชีพแล้ว ต้องจัดทำโครงการขยายผลการฝึกประสบการณ์ให้กับนักศึกษาในสถานศึกษา ตลอดจนการให้องค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในสถานศึกษาต่อไป