เรสคิวฟาร์ม สู่ 'Young Smart Farmer’ ศูนย์บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เกษตรกรรุ่นใหม่

08 Oct 2020

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer และ Young Smart Farmer ในการพัฒนาเกษตรกรอย่างรอบด้านให้เกษตรกรไทยพึ่งพาตนเองและเป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรรายอื่น และพัฒนาภาคการเกษตรให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายที่จะพัฒนา คนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการเกษตรให้รู้จักบริหารจัดการการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ สำหรับหนึ่งในนวัตกรรมของ Young Smart Farmer ที่ได้รับความสนใจ คือนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านแผงโซล่าเซลล์ ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมและตัวแปรสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี

เรสคิวฟาร์ม สู่ 'Young Smart Farmer’ ศูนย์บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เกษตรกรรุ่นใหม่

จากตัวอย่างของ Young Smart Farmer ที่ประสบความสำเร็จและมีความเชี่ยวชาญด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการลดต้นทุนการผลิต คือ นายวีระ สรแสดง ที่สามารถนำนวัตกรรมมาปรับใช้ในการทำเกษตรบนพื้นที่ 9 ไร่ โดยใช้พลังงานไฟฟ้าที่ฟาร์มผลิตเองจนเป็นฟาร์มค่าไฟฟ้าศูนย์บาท พร้อมทั้งมีการบริหารจัดการน้ำในฟาร์มอย่างเป็นระบบ เปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นน้ำดีเพื่อใช้หมุนเวียนรักษาระบบนิเวศในฟาร์มจนสามารถพัฒนาฟาร์มให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างงาน สร้างรายได้ให้ฟาร์ม และคนในชุมชน นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้เป็นศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ และเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เครือข่ายศูนย์เรียนรู้เพื่อการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าทางการเกษตร จนปัจจุบัน เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้สนใจ และเมล็ดพันธุ์ทางการเกษตรรุ่นใหม่นำไปเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติและต่อยอด

สศก. โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์นายวีระ สรแสดง Young Smart Farmer เจ้าของเรสคิวฟาร์ม แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร ได้บอกเล่าว่า ก่อนหน้านี้ตนเองได้ประกอบอาชีพเป็นฝ่ายศิลป์ในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และเปิดบริษัทออแกไนซ์ของตนเองอีกประมาณ 10 ปี ต่อมาได้มีความสนใจที่จะทำการเกษตร โดยเห็นที่ดินแปลงหนึ่ง เป็นที่น้ำท่วมขัง ไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีไฟฟ้า อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งคนทั่วไปมองว่าพื้นที่แบบนี้ ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ตนจึงอยากก้าวข้ามข้อจำกัดที่อยู่ในกรอบนั้น จึงเริ่มจากปรับสภาพพื้นที่ เริ่มทดลองสิ่งต่างๆ และได้เกิดแนวคิดการทำฟาร์มค่าไฟศูนย์บาทขึ้น เพราะเป็นการลดต้นทุนการผลิตวิธีหนึ่ง เนื่องจากต้นทุนเรื่องของไฟฟ้าเป็นหัวใจหลักของการทำฟาร์ม เพราะในฟาร์มมีทั้งโรงเรือนอัตโนมัติ กึ่งอัตโนมัติ ทุกอย่างใช้ไฟฟ้าทั้งหมด แต่ไฟฟ้านั้นผลิตเอง จากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านโซล่าเซลล์ และนำอุปกรณ์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จ ประกอบกับตนเป็นผู้ที่ชอบเรียนรู้ และพัฒนาการทำเกษตรอยู่ตลอดเวลา จึงมีความสนใจโครงการ Smart Farmer ของกระทรวงเกษตรฯ โดยเริ่มจากการเข้าไปปรึกษากับสำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งเรื่องการลงทะเบียนเกษตรกร การทำการเกษตร และได้รับคำแนะนำให้ลงทะเบียนเป็น Young Smart Farmers ซึ่งตนได้เห็นถึงประโยชน์จากการเข้าโครงการดังกล่าว ทั้งการสร้างเครือข่ายกับเกษตรกรรุ่นใหม่ การฝึกอบรม ให้ความรู้ ได้รับการพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ จึงก้าวเข้าสู่การเป็น Young Smart Farmer ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

นายชีวิต เม่งเอียด ผู้อำนวยการ สศท.7 กล่าวเสริมว่า การทำฟาร์มในแบบของเรสคิวฟาร์มเมื่อเปรียบเทียบกับฟาร์มทั่วไปที่ใช้ไฟฟ้าแล้วจะมีการประหยัดต้นทุนค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ประมาณร้อยละ 90 เนื่องจากใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ควบคุมการทำงานจากระบบสั่งการด้วยมือถือ และระบบแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ นายวีระยังได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการฟาร์ม และได้นำหลักคิดเรื่อง เขื่อน ฝาย แก้มลิง คลองไส้ไก่ มาประยุกต์ใช้บริหารจัดการน้ำในฟาร์มเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ยังมีการใช้ภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม นำเศษกิ่งไม้ใบไม้มาเผา ในถังทำให้เกิดควันเพื่อไล่แมลง แทนการใช้สารเคมี ปัจจุบันฟาร์มแห่งนี้ ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้สนใจและเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่มาแล้วกว่า 10,000 ราย จึงนับว่านายวีระ สรแสดง Young Smart Farmer เป็นอีกหนึ่งในเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ทั้งนี้ หากเกษตรหรือท่านใดที่สนเข้าศึกษาดูงาน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่นายวีระ สรแสดง 71 แขวงบางชัน เขตคลองสามวา จังหวัดกรุงเทพ 10510 FB : Res-Q Farm กับ Res-Q Cafe หรือโทร 08 1870 2818

HTML::image( HTML::image(