ลองจินตนาการดูว่า หากลูกของคุณไม่สามารถเล่นในสนามเด็กเล่นกับเพื่อนได้เหมือนปกติ ไม่ว่าจะเป็นการขี่จักรยาน เล่นกีฬา หรือแม้กระทั่งการทำกิจกรรมทั่วไปของเด็ก ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการกระทบกระแทก แม้เพียงเล็กน้อย อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกมากจนกังวลว่าอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ คุณจะรู้สึกอย่างไร? หรือบางครั้งเมื่อคนอื่นเห็นรอยจ้ำเลือดและรอยฟกช้ำบนตัวของลูกคุณ คุณอาจถูกเข้าใจผิดว่ารอยช้ำเกิดจากกระทำการรุนแรงกับเด็ก
โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือด หรือ Immune thrombocytopenia (ITP) คือภาวะที่คนไข้มีเกล็ดเลือดลดลง เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือด ส่งผลทำให้เลือดไม่สามารถแข็งตัวได้ จึงเกิดอาการเลือดออก มักมีเลือดออกตามผิวหนังหรือ ตามเยื่อบุต่างๆ เช่น เลือดกำเดา หรือเลือดออกตามทางเดินอาหาร บางรายอาจจะพบอาการ วิตกกังวล ซึมเศร้า และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตถ้าเกล็ดเลือดต่ำเป็นระยะยาวนาน
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนงนุช สิระชัยนันท์ สาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โรค ITP ปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากการที่ร่างกายติดเชื้อไวรัส จึงสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อทำลายเชื้อ แต่ส่งผลในการทำลายเกล็ดเลือดของตนเองด้วย สาเหตุอื่นที่พบได้โดยเฉพาะในคนที่เป็นเกล็ดเลือดต่ำแบบเรื้อรัง ได้แก่ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) การติดเชื้อไวรัสเอดส์ หรือไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น โรคนี้พบได้ทุกช่วงอายุ โดยมีอุบัติการณ์ราว 2-6 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีเกล็ดเลือดต่ำกว่า 50,000 ต่อ ไมโครลิตร อาการเลือดออกมักสัมพันธ์กับปริมาณเกล็ดเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกล็ดเลือดต่ำกว่า 10,000 ต่อ ไมโครลิตร จะมีโอกาสเลือดออกรุนแรงได้”
ผู้ป่วยหลายคนเข้าใจว่าโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยโรคภาวะเกล็ดเลือดต่ำชนิด ITP ในเด็ก และร้อยละ 60-70 ในผู้ใหญ่ สามารถรักษาให้หายขาดได้ อันเป็นผลมาจากการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอในกรณีที่เกล็ดเลือดต่ำ และมีอาการเลือดออก นอกจากนี้ การดูแลตัวเอง การบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายอย่างพอดี พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพดีขึ้น
การปฏิบัติตัวในช่วงที่มีเกล็ดเลือดต่ำ
“สุดท้ายนี้ กำลังใจจากครอบครัวและการมีส่วนร่วมของคนในครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยไม่ควรท้อแท้หรือหมดกำลังใจ แต่ควรที่จะเรียนรู้ ด้วยการหมั่นศึกษาและดำเนินชีวิตในแนวทางที่เหมาะสม เช่นนี้ผู้ป่วยภาวะเกล็ดเลือดต่ำก็จะสามารถใช้ชีวิตให้มีความสุขและมีคุณภาพได้โดยไม่ยาก” ศ.พญ.นงนุช กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ป่วยหรือมีอาการของโรคภาวะเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ และผู้ที่สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถรับชมวิดีโอให้ความรู้เกี่ยวกับ “โรคภาวะเกล็ดเลือดต่ำ” โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนงนุช สิระชัยนันท์ ได้ที่ YouTube: Rama Channel
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit