CHOW กลับมาโชว์ฟอร์มสวยอีกครั้ง ไตรมาสที่ 2/2563 กำไรสุทธิ 34.65 ลบ. พุ่งกว่า 173% จากขาดทุน 20 ลบ.ใน Q2/62 แม้ธุรกิจผลิตเหล็กแท่งทรงยาวในประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ธุรกิจพลังงานโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่นรับรู้รายได้เพิ่มตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ CHOW พลิกจากขาดทุนมาเป็นกำไรสำเร็จ “ศุภชัย ยิ้มสุวรรณ” ย้ำ CHOW พร้อมเติบโตต่อเนื่อง เผยมีแผนดำเนินธุรกิจที่มั่นคง สำหรับรองรับการขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต ล่าสุดตั้งบริษัทย่อยลุยธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง
นายศุภชัย ยิ้มสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กแท่งยาว (Steel Billet) รายใหญ่ของประเทศที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และธุรกิจพลังงาน ประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลประกอบการงวด 3 เดือน ประจำไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม 514.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 457.21 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 34.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.65 ล้านบาท หรือร้อยละ 173 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 20 ล้านบาท
สำหรับกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นมาจากรายได้จากธุรกิจพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยรายได้จากการขายสำหรับงวดไตรมาสที่ 2/2563 มีจำนวน 270.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่ทำได้ 247.83 ล้านบาท เป็นจำ นวน 22.88 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ9.23 จากความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 68.6 เมกะวัตต์ดีซี เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพียง 59.92 เมกะวัตต์ดีซี ทำให้บริษัทฯสามารถรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน โดยปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาจากโครงการอาโอโมริและโครงการนิฮอนมัตซึ 3 ที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชยในวันที่ 30 กันยายน 2562 และ 31 มกราคม 2563 ตามลำดับ
ในขณะที่ธุรกิจเหล็กในไตรมาสที่ 2/2563 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 โดยตรง โดยทำให้รายได้ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในไตรมาสที่ 2/2563 ความต้องการเหล็กในภาคธุรกิจเกิดการชะลอตัวลงและราคาขายเหล็กในประเทศไทยยังไม่สามารถปรับตัวให้สูงขึ้นได้ เนื่องจากถูกกดดันจากราคาเหล็กในต่างประเทศ ทำให้ปริมาณการขายลดลง และถึงแม้ว่าบริษัทฯ ได้เสร็จสิ้นกระบวนการทดสอบสภาพเครื่องจักรในเดือนเมษายน และ ได้เริ่มรับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า OEM ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน แต่เนื่องจากการสั่งผลิตยังไม่มากเพียงพอที่จะครอบคลุมต้นทุนการให้บริการ เนื่องจากลูกค้าประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคโควดิ 19 เช่นเดียวกัน จึงส่งผล ให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากการให้บริการ แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้สัญญาการรับจ้างผลิตไดกำหนดปริมาณการสั่งผลิตขั้นต่ำต่อปีไว้ ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าลูกค้าจะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ตามสัญญาและสอดคล้องกับความต้องการเหล็กในตลาดต่อไป
นายศุภชัย กล่าวต่อถึงแนวโน้มผลประกอบการในปี 2563 ว่า มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป เนื่องจากธุรกิจเหล็กพร้อมเดินเครื่องการผลิตได้ตามสัญญาของลูกค้า ในขณะที่ธุรกิจพลังงานทั้งในและต่างประเทศยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่องตามแผนธุรกิจที่วางไว้ โดยล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติการจัดตั้งบริษัทจำกัดขึ้นเพื่อรองรับการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีก 1 บริษัท เพื่อเดินหน้าขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นความคืบหน้าของธุรกิจในๆเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนยังมีอีกมาก โดยเฉพาะจากพลังงานสะอาดที่ไม่สร้างมลพิษอย่างไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งในประเทศและต่างประเทศดังกล่าว ซึ่งจะสะท้อนรายได้จากธุรกิจพลังงานเติบโตก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit