คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี โดย นายเรวัช ศรีแสงอ่อน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี โดยมี คุณอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 2 เป็นประธานในงาน เพื่อผนึกกำลังร่วมกันพัฒนาระบบการเรียนการสอน การสร้างองค์ความรู้ร่วมกันเพื่อให้นักเรียนอาชีวะมีศักยภาพสู่ระดับสากล และสามารถรองรับอุตสากรรมแห่งอนาคตและเครื่องมือแพทย์ได้ครบวงจร ณ โดมอเนกประสงค์ วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี จังหวัดลพบุรี
รศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ครั้งนี้ มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมมือกัน มีขอบเขตดังนี้
จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยและประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงทางสุขภาพและการเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมการแพทย์ สุขภาพและกำลังคนในซัพพลายเชนที่จะต้องพร้อมรองรับการผลิตและบริการในอุตสาหกรรมการแพทย์ทั้งในภาวะฉุกเฉินและปกติ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมหารือกับสภาสถาบันการอาชีวศึกษาและวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ถึงการสร้างบุคคลากรอาชีวะในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ โดยมีแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรระดับอาชีวะสากลและประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมเป็นภาคี ในแต่ละปีจะมีอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ของโรงพยาบาลที่ต้องการการซ่อมบำรุงหรือการปรับแต่งทางวิศวกรรมก็สามารถให้เครือข่ายอาชีวะดำเนินการซ่อมแก้ไขได้ หรือหากไม่ใช้แล้วก็สามารถนำมาเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนแก่นักศึกษาอาชีวะได้เรียนรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีได้ ช่วยเสริมขีดความสามารถทางวิศวกรรมเครื่องมือแพทย์แก่บุคคลากรของไทยในทุกระดับ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศไทยในการรองรับการขยายตัวของการลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ใน EEC ที่มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
นายเรวัช ศรีแสงอ่อน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี กล่าวว่า ความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สอดคล้องกับการพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีเป้าหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็น Industry 4.0 นั้น การผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการอย่างสูง ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาอาชีวศึกษา ปี 2560 - 2579 การยกระดับแรงงานอาชีวศึกษาในอนาคตจะยึดหลักคุณภาพ ผสมผสานคุณธรรม ความร่วมมือ สามารถทำงานเป็นทีม มีความคิดสร้างสรรค์ จิตอาสา จรรยาบรรณวิชาชีพ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และความเป็นมืออาชีพ เพื่อไปสู่การเป็นอาชีวะระดับสากล ความร่วมมือครั้งนี้ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข และการเน้นพึ่งพาตนเองภายในประเทศซึ่งเป็นแนวโน้มของทั่วโลก นับเป็นโจทย์ในการเรียนรู้และฝึกฝนเสริมทักษะแก่บุคคลากรอาชีวะศึกษา ให้ตอบสนองวิถีใหม่ของธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพด้วย