รมว. กษ. ลงพื้นที่ กยท. เขตภาคใต้ตอนกลาง พบปะเกษตรกรชาวสวนยางพร้อมมอบนโยบายตลาดนำการผลิต ส่งเสริมงานวิจัยประยุกต์นวัตรกรรมแปรรูปยางเพิ่มมูลค่า
สร้างอนาคต
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในนามรัฐบาลตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางได้รับ ทั้งจากสถานการณ์ราคายาง ประกอบกับการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งหลายประเทศคงต้องใช้เวลาในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยโครงการประกันรายได้เกษตรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 ยังมียอดค้างประมาณ 2,400 ล้าน ซึ่งจะนำเรื่องเข้า ครม. ต่อไป ส่วนโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ได้ประชุมเรื่องราคาประกันยางกับ กยท. แล้ว โดยจะนำเสนอเข้า ครม. คาดว่าจะเกิดโครงการประกันรายได้ฯ ระยะที่ 2 ในเดือนตุลาคมนี้แน่นอน
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า รัฐบาลคาดหวังให้มีการยกระดับการพัฒนายางทั้งระบบครบวงจร ให้ดีขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา ทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่ยังคงรักษาสถานะผู้นำการผลิตและผู้ส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลก มีศักยภาพในการแข่งขันด้านยางพาราในระดับโลกและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้สูงขึ้น ตลอดจนช่วยสนับสนุนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมยางและเป็นสินค้าหลักที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ทั้งนี้ ด้วยพื้นที่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช มีองค์ประกอบค่อนข้างสมบูรณ์ กล่าวคือ มีพื้นที่ปลูกยางจำนวนมาก เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพชาวสวนยาง มีตลาดกลางยางพาราในการประมูลซื้อขายยางพาราอยู่ในพื้นที่ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางการค้าที่สำคัญของภาคใต้ เป็นแหล่งที่ตั้งของโรงงานผลิตภัณฑ์ยางชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งเหมาะสมในการส่งเสริมให้เป็นแหล่งธุรกิจยางพาราภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นแนวคิดให้เกิดการสร้าง Rubber Valley ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันผลักดันให้เป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ กยท. ควรผลักดันให้เกิดการพัฒนางานวิจัย คิดค้นนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ยางพารา โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ดำเนินตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านระบบตลาดนำการผลิต เพิ่มช่องทางการขาย ลดต้นทุนการผลิต ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ได้ผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 หวังให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นชาวสวนยาง ภาครัฐบาล ภาคเอกชน ร่วมมือกัน มีแนวคิดเดียวกัน และเดินไปด้วยกัน เกิดเป็นความเข้มแข็งมีอำนาจต่อรอง ช่วยกำหนดราคายางให้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะสมประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย เพราะเรามีวัตถุดิบน้ำยางดีที่สุดในโลกอยู่แล้ว
นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า มีแนวคิดแผนแม่บทนำร่องโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราให้ครบวงจร โดยใช้พื้นที่ภายใต้การกำกับดูแลของ กยท. จำนวน 41,000 ไร่ ณ ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อสร้างเป็นอาณาจักรด้านยางพาราทั้งระบบครบวงจร (Rubber Valley) เป็นจุดศูนย์กลางในพื้นที่อาเซียน ในด้านแหล่งข้อมูล การเรียนรู้ การผลิต แปรรูป ส่งออก เต็มรูปแบบ รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมเฉพาะด้านยางพารา แก่ผู้ที่สนใจศึกษาดูงานด้านยางพาราได้อย่างครบวงจร ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้ทราบถึงข้อดี ข้อจำกัดในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง
นอกจากนี้ กยท. ยังให้ความสำคัญด้านการวิจัย โดยการสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านยางพารา ด้วยการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนายางพาราร้อยละ 5 ของทุกปี สำหรับใช้ศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ และทดลองเกี่ยวกับยางอย่างมีระบบ และได้ร่วมสนับสนุนทุนวิจัยกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศเพื่อสร้างบุคลากร ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ยาง รวมถึงการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรชาวสวนยาง ได้มีโครงการทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีสำหรับบุตรเกษตรกรชาวสวนยางด้วย
นายปัณณวิชญ์ วงศ์สุวัฒน์ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง กล่าวว่า กยท. เป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องพัฒนายางพาราของประเทศให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามยุทธศาสตร์ชาติ และขับเคลื่อนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่ง กยท. ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาและดำเนินธุรกิจยางพารา โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการสร้างความเข้มแข็งและทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นแก่ผู้ประกอบการให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง เปิดโอกาสให้สถาบันเกษตรกรที่มีขีดความสามารถด้านยางพารา แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของการลงทุน มีโอกาสเข้าถึงโรงงานการผลิตของ กยท. เพื่อส่งเสริมธุรกิจการผลิต สนับสนุนให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่แปรรูปยาง ปรับปรุง/พัฒนาคุณภาพยางแปรรูปให้ได้มาตรฐาน GMP ตลอดจนการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม รวมถึงลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการตลาด เพื่อให้มีตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ยาง