กรมวิชาการเกษตร ชูปุ๋ยชีวภาพถุงเขียวตระกูลพีจีพีอาร์ 3 สูตรสุดยอดปุ๋ยชีวภาพแห่งปี ทึ่งแบคทีเรียในปุ๋ยมากความสามารถ ทั้งตรึงไนโตรเจน ละลายธาตุอาหารสำคัญที่ถูกตรึงอยู่ในดิน สร้างสารแย่งจับธาตุเหล็กส่งต่อพืช พร้อมสารต้านเชื้อราสาเหตุโรคพืช เพิ่มราก เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนใช้ปุ๋ยเคมี เผยความต้องการใช้ปี 63 เกือบ 100 ตัน เกษตรกรสั่งจองออร์เดอร์ยาวข้ามปี เผยพีจีพีอาร์-ทู ได้รับความนิยมสูงสุด
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปุ๋ยเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญต่อการเพาะปลูกพืชมีหน้าที่ให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชโดยเฉพาะธาตุอาหารหลัก ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ซึ่งพืชต้องการในปริมาณมากเมื่อเทียบกับธาตุอื่น ๆ และในดินมักมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมธาตุเหล่านี้โดยการให้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารสำคัญดังกล่าว ซึ่งกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิจัย และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ที่มีชีวิตที่สามารถสร้างธาตุอาหารที่สำคัญเป็นประโยชน์กับพืชโดยผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพของกรมวิชาการเกษตรประเภทต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซ่า ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต รวมทั้งปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ซึ่งเกษตรกรนิยมเรียกว่า ”ปุ๋ยถุงเขียว” ตามสีของบรรจุภัณฑ์ จัดเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพอีกชนิดหนึ่งของกรมวิชาการเกษตรที่ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรจำนวนมากและมียอดสั่งจองเพิ่มขึ้นทุกปี
ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ประกอบด้วยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในดินบริเวณรอบรากพืชและช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช โดยนักวิจัยได้ทำการคัดเลือกแบคทีเรียที่มีความสามารถหลาย ๆ ด้านทั้งการตรึงไนโตรเจน เพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืช สร้างสารซิเดอโรฟอร์ซึ่งมีคุณสมบัติเพิ่มการนำธาตุเหล็กเข้าสู่เซลล์พืชโดยการแย่งจับธาตุเหล็กบริเวณรอบรากพืช ทำให้เชื้อราโรคพืชไม่สามารถนำธาตุเหล็กไปใช้ได้ รวมทั้งยังสามารถสร้างสารคล้ายฮอร์โมนพืชช่วยในการงอกของรากและเพิ่มปริมาณรากขนอ่อน สร้างสารปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อราสาเหตุโรคพืชได้ ซึ่งการที่แบคทีเรียมีบทบาทที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้พร้อมกันหลายอย่างนี้ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพีจีพีอาร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปใช้ทดแทนหรือใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิต และช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพให้กับผลผลิตพืช
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปุ๋ยพีจีพีอาร์สูตรแรกผลิตขึ้นเมื่อปี 2546 ชื่อว่า พีจีพีอาร์-วัน ใช้สำหรับข้าวโพดและข้าวฟ่างและพืชผักสมุนไพร โดยใช้คลุกเมล็ดก่อนปลูก หรือใช้ร่วมกับปุ๋ยหมักคลุกเคล้าให้เข้ากันตามอัตราที่แนะนำสำหรับรองก้นหลุมก่อนปลูก ปุ๋ยพีจีพีอาร์สูตรที่ 2 ใช้ชื่อว่า ปุ๋ยพีจีพีอาร์-ทู สำหรับข้าว ซึ่งได้รับความนิยมจากเกษตรสูงเช่นเดียวกัน เพราะสามารถใช้เพิ่มผลผลิตได้กับข้าวทุกพันธุ์ โดยใช้คลุกกับเมล็ดข้าวก่อนปลูกหรือใช้คลุกกับปุ๋ยหมักรองพื้นก็ได้ และผลิตภัณฑ์ปุ๋ยพีจีพีอาร์ล่าสุด คือ ปุ๋ยพีจีพีอาร์-ทรี ใช้สำหรับอ้อยและมันสำปะหลัง ใช้ร่วมกับปุ๋ยหมักหว่านรองพื้น ใช้ฉีดพ่นลงบนท่อนพันธุ์อ้อย หรือใช้แช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังแล้วจึงนำไปปลูก
ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจากการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ คือ สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้อย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ ช่วยเพิ่มปริมาณรากอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดน้ำและปุ๋ยอย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์ และช่วยเพิ่มผลผลิตพืชอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีโดยเฉพาะปุ๋ยเคมีไนโตรเจนทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรลดลง ในขณะที่ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพเพิ่มขึ้นด้วย
“หลังจากผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรอย่างมากประกอบกับเกษตรกรยังมีความต้องการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ในการผลิตพืชชนิดอื่น กรมวิชาการเกษตรจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพอีก 2 สูตร คือ ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทู สำหรับข้าว และปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทรี สำหรับอ้อยและมันสำปะหลัง โดยปริมาณความต้องการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ในปี 2561 มีจำนวน 35 ตัน ส่วนในปี 2562 เพิ่มขึ้นกว่า 60 ตัน และในปี 2563 นี้ปริมาณความต้องการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นเกือบ 100 ตัน จากยอดการสั่งจองผลิตภัณฑ์ซึ่งเข้าคิวยาวไปถึงปีหน้า โดยปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทู สำหรับข้าวได้รับการสั่งจองมากที่สุด ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2579-7522-3” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit