EA หนุนบริษัทย่อย ”อมิตาฯ” เซ็น MOU ร่วมกับจุฬาฯ พัฒนาเครื่องต้นแบบแยกชิ้นส่วนเซลล์แบตฯลิเทียม และกระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่

24 Aug 2020

EA หนุนบริษัทย่อย “อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย)” จรดปากกาเซ็น MOU กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาการทำเครื่องต้นแบบระบบคายประจุไฟฟ้าและเครื่องแยกชิ้นส่วนเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียม ไอออน มุ่งสู่การนำร่องรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว เพื่อต่อยอดกับแผนการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม ตอกย้ำการเป็นผู้นำในเทคโนโลยีพลังงานแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับแผนสยายปีกรถยนต์ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า เชื่อมระบบขนส่งด้วยพลังงานไฟฟ้าครบวงจร และต่อเนื่องไปถึงระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าหวังผลระยะยาวทั้งดีต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล

EA หนุนบริษัทย่อย ”อมิตาฯ” เซ็น MOU ร่วมกับจุฬาฯ พัฒนาเครื่องต้นแบบแยกชิ้นส่วนเซลล์แบตฯลิเทียม และกระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา EA และ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (หรือ “ATT”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินโครงการโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในประเทศไทย ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาโครงการที่จะนำไปสู่การรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากสำหรับต่อยอดการลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของกลุ่ม EA อย่างครบวงจรตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการเป็นผู้ผลิตเซลแบตเตอรี่เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมไฟฟ้า ไปจนถึงการนำแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่สิ้นอายุการใช้งานแล้วกลับมารีไซเคิลได้ ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซี่ยนที่เป็นฐานการลงทุนอุตสาหกรรมกักเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

ในการดำเนินโครงการความร่วมมือนี้ ATT และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะร่วมกันศึกษาวิจัย แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน อีกทั้ง ATT จะสนับสนุนบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญและทรัพยากรในโครงการจัดทำเครื่องต้นแบบระบบคายประจุไฟฟ้าและเครื่องแยกชิ้นส่วนเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน และการศึกษากระบวนการนำโลหะมีค่าจากแบตเตอรี่กลับมาใช้งานใหม่ สำหรับเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาโรงงานนำร่องรีไซเคิลแบตเตอรี่ครบวงจร ซึ่ง ATT จะนำผลการศึกษาจากโครงการไปประยุกต์ใช้ภายในระยะเวลา 3 ปี หลังจากจบการดำเนินงานโครงการ

“การจะทำให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าของคนไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากประเทศต่างๆ ได้ จำเป็นต้องมีทั้งเทคโนโลยีที่ดีเป็นตัวนำ เงินทุน และการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ ในด้านของบริษัท เราแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ และนำเงินทุนมาลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตให้กับกิจการในระยะยาว และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาอันดับหนึ่งของประเทศเข้าร่วมพัฒนาภายใต้ความร่วมมือใน MOU นี้ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมแบตเตอรี่นี้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและยังใช้เวลานานกว่าจะพัฒนาจนเข้าสู่ระยะที่จะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งในระหว่างที่เราพัฒนาอยู่นั้น คู่แข่งจากต่างประเทศที่มีความสามารถและศักยภาพสูงก็มีการพัฒนาเช่นกันซึ่งพร้อมที่จะเข้ามาแข่งขันทั้งในประเทศไทย และในตลาดต่างประเทศ จนเป็นอุปสรรคต่อภาพรวมของการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้ หากภาครัฐร่วมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตและแข่งขันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดหรือยกเว้นอัตราภาษีในรูปแบบต่างๆ ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนให้ไทยกลับมาเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญในภูมิภาคนี้ และฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้ในไม่ช้า” นายสมโภชน์กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ATT เป็นผู้ลงทุนในโครงการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขนาดกำลังการผลิต 50 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง โดยปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานสำหรับระยะที่ 1 ที่มีขนาดกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองการผลิตสำหรับระยะที่ 1 ได้ภายในปี 2563 หลังจากนั้น จึงจะทยอยเริ่มทำการผลิตจริง เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายของบริษัทฯต่อไป การร่วมศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีในการนำแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใช้งานแล้วกลับมารีไซเคิลนี้ จะสอดรับกับแผนการบุกตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของกลุ่ม EA ในอนาคต ซึ่งจะมีทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้าที่เชื่อมต่อระบบขนส่งด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ครบวงจร ช่วยประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง อีกทั้งลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ต่อยอดธุรกิจของกลุ่มบริษัทและร่วมฟื้นอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศต่อไป