70 ปี THAICID มุ่งมั่น พัฒนา นวัตกรรมเพื่องานชลประทาน สู่ความยั่งยืน

21 Aug 2020

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะกรรมการการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทยกล่าวเปิดการประชุมวิชาการ การชลประทานและการระบายน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ผ่านระบบ e-Symposium ซึ่งถ่ายทอดสดจาก สถาบันพัฒนาการชลประทาน โดยมี อาจารย์วสันต์ บุญเกิด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิประจำสถาบันพัฒนาการชลประทาน และประธานคณะอนุกรรมการด้านน้ำและระบบนิเวศของนาข้าว (INWEPF) ประจำประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความยินดีในวาระครบรอบ 70 ปี ของ ICID และ THAICID ในการนี้ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการ THAICID ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาผ่านทาง Live onstage ณ Studio ชั้น 2 อาคารเรียน 2 สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

70 ปี THAICID มุ่งมั่น พัฒนา นวัตกรรมเพื่องานชลประทาน สู่ความยั่งยืน

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการของ THAICID มีวัตถุประสงค์หลักในการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นวัตกรรมต่างๆ ของงานชลประทานและการระบายน้ำของประเทศไทย ซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และในปี พ.ศ. 2563 นี้ เป็นวาระ 70 ปี ของ ICID และ THAICID ถือเป็นการร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีแห่งความมุ่งมั่น คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ (ICID) และคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) ในการเป็นองค์กรเครือข่ายสนับสนุนภารกิจ เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่เราต้องการ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ มิติที่ 6 มุ่งเน้นการสรรสร้างนวัตกรรมในการจัดการน้ำชลประทานและการระบายน้ำ

การจัดงาน THAICID Symposium ในทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดต่างต้องอาศัยการพัฒนาเทคนิคความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ จากเครือข่ายให้ดำเนินควบคู่ไปอย่างใกล้ชิดกับกระบวนการสร้างวัฒนธรรมระหว่างสมาชิกในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชน ซึ่งการเติบโตขึ้นของชุมชน จะควบคู่ไปกับ การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาพร้อมหาแนวทางการป้องกันโดยมิได้อยู่แยกขาดจากบริบททางสังคมการเมือง หากแต่ความรู้ดังกล่าวนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตจากการปรับตัวเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หรือ Disruption to the New normal ทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานการประชุมทางวิชาการ จากรูปแบบเดิม มาเป็นรูปแบบ Online e-Symposium โดยใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนผ่าน Digital Platforms มาช่วยให้การดำเนินงานทางวิชาการในครั้งนี้ บรรลุวัตถุประสงค์ตามภารกิจหลักของ THAICID อย่างมีประสิทธิภาพ และคงการเป็นประเทศศูนย์กลางแห่งวิชาการด้านการชลประทานการระบายน้ำและสาขาที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคที่มีเครือข่ายกว้างขวางทั้งใน และต่างประเทศอย่างยั่งยืน

ภายใต้วิกฤตของโลกในปัจจุบัน น้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถป้องกันการระบาดอย่างเป็นวงกว้างได้ดีที่สุด ผ่านการจัดการทรัพยากรน้ำและการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกสรรพสิ่งที่มีชีวิต (WATER for ALL) ผ่านการชลประทานและการระบายน้ำ ทั้งโดยใช้สิ่งก่อสร้าง และไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง อันเป็นหนึ่งในการดำเนินการ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมิติที่ 6 ขององค์การสหประชาชาติ

โดยกิจกรรมภายในงาน จะเน้นในเรื่องของ นวัตกรรม และเทคโนโลยี สรรสร้างการจัดการทรัพยากรน้ำชลประทาน ให้คุ้มค่าทุกหยาดหยด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวดำเนินการในรูปแบบแบบปฏิสัมพันธ์ สหวิทยาการ และการบูรณาการมีส่วนร่วมด้านการชลประทานและการระบายน้ำ เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนนวัตกรรมสรรสร้างเครื่องมือ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการจัดหาน้ำชลประทานให้เพียงพอในอนาคต ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านทาง เว็บไซต์ https://thaicid.rid.go.th/2020 ซึ่งจะมีปาฐกถาพิเศษ ของ Keynote Speakers 4 ท่าน ได้แก่ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา นายชัยวัฒน์ ปรีชาวิทย์ อดีตรองประธาน ICID และที่ปรึกษากรมชลประทาน online และ นายสุริยัน วิจิตรเลขการ พร้อมด้วย นายพิริยะ อุไรวงค์ โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน : GIZ : German International Cooperation online และจะมีการนำเสนอในรูปแบบ e-onstage Presentation การถ่ายทอดสดบทความ 8 บทความ ที่ผ่านการคัดเลือกจากบทความทั้งสิ้น 22 บทความ บนเวที e-onstage ซึ่งผู้สนใจสามารถโพสต์คำถามต่างๆ ในขณะที่รับชมได้ และผู้ดำเนินรายการจะดำเนินการถาม-ตอบให้ในลำดับต่อไป อีกทั้งยังคงสามารถดูคลิปวีดิโอซึ่งเป็นบทความที่ร่วมส่งเข้ามานำเสนอ รวมไปถึงโปสเตอร์นำเสนอบทความอีกด้วย