คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปิโก (ไทยแลนด์) ผนึกกำลังจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการศิลปกรรมดิจิทัล หรือ FAAMAI Digital Arts Hub” ควบรวมองค์ความรู้ด้านศิลปะ และเทคโนโลยีด้านดิจิทัล สอดรับเทรนด์ดิจิทัลบูมทั่วโลก สร้างกระแสตื่นตัวด้านดิจิทัลอาร์ทให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศไทย เร่งสร้างคน เติมเต็มความต้องการบุคลากรด้านดิจิทัลอาร์ทที่กำลังขาดแคลน ตั้งเป้าก้าวขึ้นเป็นผู้นำ และเป็นฮับดิจิทัลอาร์ตของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใน 5 ปี หนุนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัว
นายจนัธ เที่ยงสุรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศิลปกรรมดิจิทัล หรือ FAAMAI Digital Arts Hub เปิดเผยว่า ปัจจุบันสื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญและสอดแทรกอยู่ในชีวิตของเราทุกคนบนโลกนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดดิจิทัลอาร์ตได้ถือกำเนิดขึ้นและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งจากคนในและนอกวงการศิลปะ ในประเทศไทยดิจิทัลอาร์ตเป็นสาขาวิชาที่ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างงานในลักษณะข้ามสาขา ไม่ว่าจะเป็นงานด้านภาพ เสียง หรือศิลปะการแสดง ดังนั้นเราจึงควรสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจในศาสตร์ดิจิทัลอาร์ท เพื่อเร่งเสริมศักยภาพของบุคลากร เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาให้ศาสตร์นี้เป็นอีกหัวหอกหนึ่งในการสร้างรายได้เข้าประเทศ
“ดิจิทัลอาร์ต” คือการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของศิลปิน ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี ในบางครั้งยังรวมเอาผู้ชมเข้าไปมีมีปฏิสัมพันธ์กับผลงานได้อีกด้วย เทคโนโลยีดิจิทัลได้เปิดพรมแดนศิลปะแบบใหม่ ให้ทั้งตัวศิลปินและผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ในแบบที่ศิลปะแบบดั้งเดิมไม่สามารถทำได้
โครงการ FAAMAI ภายใต้การดูแลของคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้ลงนามในความตกลงความร่วมมือ 3 ฝ่าย ร่วมกับสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ซึ่งให้ความอนุเคราะห์เรื่องสถานที่ตั้ง ณ บริเวณพื้นที่ด้านข้างอุทยาน 100 ปี ตลอดจนสาธารณูปโภคพื้นฐาน และบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ให้ความอนุเคราะห์ในเรื่องโครงสร้างโดมยักษ์ FAAMAI Dome อันเป็นโดมจีโอเดสิกเส้นผ่านศูนย์กลาง 35 เมตร ความสูง 17.5 ม. ซึ่งเป็นโดมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาผสานกับผลงานศิลปะ ทำให้งานศิลปะเป็นดิจิทัลอาร์ทที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ตลอดจนร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ด้านดิจิทัลอาร์ท ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการประกวด และเวิร์คช็อปต่างๆ เป็นต้น
“FAAMAI Digital Arts Hub มีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ และงานด้านดิจิทัลอาร์ท ของนิสิต นักศึกษา นักวิจัย ศิลปินไทยและต่างประเทศ ตลอดจนบุคคลทั่วไป และเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของนิสิตและคณาจารย์ในด้านดิจิทัลอาร์ทให้ทัดเทียมกับระดับนานาชาติทั้งในแง่ของการสร้างสรรค์ผลงานและความรู้ในด้านเทคโนโลยีใหม่ ในระยะยาวก่อให้เกิดการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศนอกจากกิจกรรมทางศิลปะแล้วพื้นที่นี้ยังเปิดให้บริการแก่หน่วยงาน และองค์กรภายนอก เพื่อใช้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น นิทรรศการ อีเว้นท์ งานประชุม เป็นต้น เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และสร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าและบริการให้มีความเป็นนวัตกรรม ตื่นเต้น และทันสมัย รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมในชุมชน สร้างความตื่นตัว และสีสัน สร้างการมีส่วนร่วมและความภาคภูมิใจให้คนในชุมชน ตลอดจนเป็นการสร้างรายได้ให้กับร้านค้า และร้านอาหารในชุมชนอีกด้วย” ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวเสริม
นายวรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าในนามของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การสนับสนุนด้านพื้นที่สำหรับ FAAMAI Digital Arts Hub ซึ่งพื้นที่ในการสร้างโดมยักษ์เป็นพื้นที่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และอยู่ข้างอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใกล้โรงเรียน และสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ซึ่งนับเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางเข้ามายัง FAAMAI ได้ง่าย นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของ FAAMAI ผ่านจอ LED บริเวณสยามสแควร์ทั้งหมด จึงคาดได้ว่าจะสามารถดึงดูดให้ผู้สนใจงานศิลปกรรมดิจิทัลเข้าถึง และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆได้โดยง่าย
ที่สำคัญทาง PMCU ได้สนับสนุนการนำศิลปะสู่ชุมชนมาโดยตลอด และพัฒนาให้เป็นย่านศิลปะ นับเป็นการพัฒนาพื้นที่ที่มีความคุ้มค่า เพราะการลงทุนสร้างการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ โดยเฉพาะด้านดิจิทัลอาร์ท ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกในอนาคตต่อจากนี้ไป นับเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม
นางสาวสุภาภรณ์ สว่างจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าด้วยความเชื่อมั่นในหลักปรัชญาของบริษัทฯ ที่ว่า ”อะไรที่ดีต่อสังคมย่อมดีต่อการดำเนินธุรกิจ” ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญ โดยนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีด้านการสื่อสารมาบูรณาการองค์ความรู้ทุกระดับ จะเห็นได้จากที่ผ่านมาเราทำงานในลักษณะ Public Private Partnership ที่เกิดเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ควบคู่กับงานในลักษณะ Social Collaborative คือเป็นการสร้างความร่วมมือ สร้างพันธมิตรเครือข่ายระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน โดยให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมและนำ Know How ที่เป็นจุดแข็งของแต่ละองค์กรมาร่วมกันสร้างสรรค์โครงการที่ดีๆ ต่อสังคม ซึ่งจะก่อให้เกิด Collective Impact หรือการทำงานร่วมกับเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีร่วมกัน อย่างเช่นโครงการ FAAMAI ในวันนี้
สำหรับศาสตร์ด้านดิจิทัลอาร์ท ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย เราก็จะใช้ความเชี่ยวชาญและความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เรามี ถ่ายทอด ส่งเสริม และผลักดันให้เกิดการพัฒนาบุคลากรของไทยให้ที่มีศักยภาพในด้านนี้อย่างเต็มที่ โดยในครั้งนี้ได้สนับสนุน FAAMAI ทั้งพื้นที่จัดแสดงและแหล่งวิจัยใหม่ทางด้านดิจิทัลอาร์ท ผ่านโดมจีโอเดสิกเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 35 เมตร ความสูง 17.5 เมตร ซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ที่เป็นนวัตกรรมระดับโลกและเทคโนโลยีล่าสุดที่ใช้ในงานดิจิทัลอาร์ท ผ่านโดมขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย รวมทั้งช่วยประสานความร่วมมือ กับศิลปินระดับโลกให้มาร่วมสร้างสรรค์งาน และให้ความรู้ ทำให้โครงการนี้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
หากจะพูดถึงภาคเศรษฐกิจ จากข้อมูลของสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย พบว่าในปัจจุบันตลาดดิจิทัลคอนเทต์ไทยมีมูลค่าสูงถึง 25,000 ล้านบาท และเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทอย่างสูงต่อองค์กรธุรกิจในการปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรยุคดิจิทัลในทุกๆสาขา เพื่อสร้างนวัตกรรมสินค้าและบริการต่างๆ ตลอดจนการส่งเสริมการขายในทุกรูปแบบ ดังนั้น จึงถือได้ว่าดิจิทัลคอนเทนต์เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลหลักที่สามารถนำมาประยุกต์และต่อยอดในธุรกิจด้านต่างๆ ได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกประเทศล้วนให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นจากความร่วมมือกันจัดตั้ง FAAMAI Digital Arts Hub ในครั้งนี้ ย่อมส่งผลให้เกิดการร่วมสร้างมูลค่าในตลาดดิจิทัลคอนเท้นท์ของประเทศให้สูงขึ้นในระยะยาวอย่างแน่นอน
สำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจ สามารถติดตามกิจกรรมและข่าวสารต่างๆ ของ FAAMAI Digital Arts Hub ได้ที่ www.chulafaamai.com และเฟสบุ๊ค Faamai Digital Arts Hub และ IG : faamai_digital_cu
HTML::image( HTML::image(