ครม. แต่งตั้ง “ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร” อดีตรองปลัดฯ ขึ้นปลัดวธ.คนใหม่

28 Aug 2020

ที่ห้องประชุมสุนทรภู่ ชั้น ๒ โรงแรมสตาร์ คอนเวนชั่น ระยอง จ.ระยอง นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ๑ (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็น ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมคนใหม่ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นำเสนอ ทั้งนี้ เพื่อทดแทนตำแหน่งปลัดกระทรวงวัฒนธรรมที่เกษียณอายุราชการลงในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓ อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งผู้บริหารในตำแหน่งดังกล่าวเป็นการแต่งตั้งผู้มีความสามารถในการบริหารงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม และเพื่อให้การบริหารงานวัฒนธรรมและการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามภารกิจของกระทรวงวัฒนธรรมมีความต่อเนื่อง

ครม. แต่งตั้ง “ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร” อดีตรองปลัดฯ ขึ้นปลัดวธ.คนใหม่

นายอิทธิพล กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบวีดิทัศน์ มิติวัฒนธรรมกับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามที่ วธ. นำเสนอ ทั้งนี้ วีดิทัศน์ดังกล่าวสืบเนื่องจากรัฐบาลได้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดฐานการผลิตเทคโนโลยีใหม่ มีการพัฒนาคน ความรู้ เพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ นวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับการท่องเที่ยว โดย วธ. ได้ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายดำเนินการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมในพื้นที่ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ๑ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ๑. ส่งเสริมชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร โดยพัฒนาชุมชนที่มีความโดดเด่นใน ๓ มิติ คือ ยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินชีวิตวิถีวัฒนธรรม ที่ดีงามของชุมชน เช่น ชุมชนคุณธรรมฯ ต้นแบบ บ้านชากแง้ว จ.ชลบุรี ชุมชนคุณธรรมฯ ต้นแบบ บ้านเก่าริมน้ำประแส จ.ระยอง เป็นต้น โดยปัจจุบันพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ๑ มีชุมชนคุณธรรมฯ ทั้งหมด ๕๗๗ ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนส่งเสริมคุณธรรม ๒๘๒ แห่ง ชุมชนคุณธรรม ๑๕๖ แห่ง และชุมชนคุณธรรมต้นแบบ ๑๐๖ แห่ง

๒.พัฒนาแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ยกระดับเทศกาลประเพณี นำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างงานสร้างอาชีพ อาทิ บูรณะโบราณสถานวัดทุ่งควายกิน อ.เมือง จ.ระยอง พัฒนาอุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สำรวจเส้นทางท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ตามรอยเดินทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จัดถนนสายวัฒนธรรมในพื้นที่ ๑๑ แห่ง เช่น ถนนสายวัฒนธรรมชุมชนเกาะสีชัง ถนนสายวัฒนธรรมเดินกินถิ่นนาเกลือ ถนนสายวัฒนธรรมประแสร์ ส่งเสริมประเพณีท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เช่น ประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำ ประเพณีวันไหล ประเพณีวิ่งควาย รวมทั้งพัฒนาสินผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น อาทิ เครื่องจักสานพนัสนิคม ผ้าฝ้ายมัดโคลนทะล เป็นต้น นอกจากนี้ จัดโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม (4DNA) โดยเข้าไปช่วยชุมชนค้นหาจุดเด่น อัตลักษณ์ของตนเองในพื้นที่ เพื่อนำมาใช้ออกแบบเป็นสัญลักษณ์ โลโก้ หรือลวดลายสินค้าพิเศษเพื่อเพื่มมูลค่าให้กับสินค้า และผลิตภัณฑ์


นอกจากนี้ ได้จัดทำแผนฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ (วิด-19) โดยได้ดำเนินโครงการบวร ออนทัวร์ ในชุมชนคุณธรรมฯ ต้นแบบ ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการนำวิถีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน มาสร้างแหล่งเรียนรู้ และเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น ชุมชนคุณธรรมฯ ต้นแบบ บ้านซากแง้ว ชุมชนคุณธรรมฯ ต้นแบบ บ้านเก่าริมน้ำประแส เป็นต้น ขณะเดียวกันได้มีแผนศึกษาแนวทางการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมระดับนานาชาติ และส่งเสริมศิลปิน ผู้ประกอบการ และผู้สร้างสรรค์งาน ด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น ศิลปินพื้นบ้าน ลำตัด ลิเก วงดนตรีไทย เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้

นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ๑ โดยเฉพาะเมืองพัทยามีความพร้อมทั้งทางด้านทำเลที่ตั้ง ระบบคมนาคม และสิ่งอำนวยความสะดวกในทุกด้าน วธ.จึงได้เตรียมแผนพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็นศูนย์กลาง ด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลก เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ รายได้ และสร้างศักยภาพเป็นเมืองท่องเที่ยวให้สูงยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่า จะสร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดผู้ประกอบการ และการจัดงานภาพยนตร์ระดับนานาชาติในพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งพัทยาและภาพรวมทั้งประเทศ เป็นศูนย์กลางเทศกาลและตลาดภาพยนตร์ระดับโลก มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ ๙.๕ เกิดการจ้างงานและการต่อยอดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ และในอนาคตเตรียมเสนอเมืองพัทยาเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ ของ UNESCO ต่อไปด้วย

“พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ๑ มีศักยภาพทางวัฒนธรรมสูงทั้งความสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย มีแหล่งโบราณคดีและแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ จึงควรส่งเสริมให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้และการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และควรส่งเสริมให้มีเมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ของ UNESCO ตนจึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สป.วธ. กรมศิลปากร กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ศึกษาแนวทางการพัฒนาแหล่งศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้และการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในพื้นที่ EEC เพื่อเป็นศูนย์กลางและ Landmark ด้านศิลปวัฒนธรรมระดับนานาชาติ รองรับการเรียนรู้และการท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ นอกจากนี้สั่งการให้ สป.วธ. ประสานงานกับเมืองพัทยา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ศึกษาข้อมูลและเตรียมความพร้อมในการผลักดันให้เมืองพัทยาสมัครเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ของ UNESCO เพื่อเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตและถ่ายทำภาพยนตร์ระดับโลก ดึงดูดการจัดเทศกาลและบุคลากรด้านภาพยนตร์ระดับนานาชาติ ยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสู่ระดับโลก ส่งเสริมเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ไทยสู่สากล” รมว.วธ. กล่าว