ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการอาชีวศึกษาของประเทศไทย โดยร่วมสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาองค์ความรู้ให้กับนักศึกษา และบุคลากรของสถานศึกษา ให้มีศักยภาพในการทำงาน และถ่ายทอดความรู้ในการจัดการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง และระบบขนส่งทางราง อย่างมีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ นับว่าสอดคล้องกับนโยบายของประเทศ นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และตอบโจทย์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องการให้หน่วยงานทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานภาคเอกชน สถานประกอบการ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการอาชีวศึกษา ในการพัฒนาช่างมืออาชีพ ส่งผลให้เกิด การพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน
รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า สอศ. และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS จะดำเนินการวางแผนในการฝึกอบรมพัฒนาสมรรถนะบุคลากร และนักเรียน นักศึกษาในสังกัด สอศ. โดยถ่ายทอดความรู้ เทคนิค และทักษะใหม่ ๆ ด้านเทคโนโลยีไฟฟ้า และระบบขนส่งทางราง รวมถึงการสนับสนุนวิทยากร ครุภัณฑ์ เครื่องมืออุปกรณ์ สำหรับการฝึกอบรม และพัฒนานวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์และองค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งการฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้กับผู้เรียน โดยจะนำร่องดำเนินการในสถานศึกษา 7 แห่ง ได้แก่ 1. วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ 2. วิทยาลัยเทคนิควาปีปทุม 3. วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี 4. วิทยาลัยเทคนิคนครลำปาง (วิทยาลัยการอาชีพเกาะคา) 5. วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ 6. วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา และ 7. วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BTS กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบ การดำเนินการ และบุคลากร ตลอดจนการบริหาร ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การบริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นระบบที่ทันสมัย รวดเร็ว ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเชื่อถือได้ โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญของบริษัทคือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และกำลังคนอาชีวศึกษา ซึ่งจะเป็นตัวที่ตอบโจทย์ในการพัฒนาที่จะไปให้ถึงเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการด้วยระบบที่ทันสมัย โดยการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการเรียนการสอนอาชีวศึกษา สร้างประสบการณ์ในภาคปฏิบัติให้นักเรียน นักศึกษา เกิดความรู้ความชำนาญ สามารถนำไปประกอบอาชีพหรือเป็นเจ้าของกิจการด้านเทคโนโลยีรถไฟฟ้า และระบบรางต่อไปได้