ผลสำเร็จจากความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่น "ทีมสนับสนุนอุตสาหกรรมอัจฉริยะ The Smart Monodzukuri Support Team"
กระทรวงอุตสาหกรรม, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.), กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (METI) และสมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่น-ไทย (JTECS) ร่วมกับ องค์กรภาคอุตสาหกรรม อาทิ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท., องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ (JETRO Bangkok), The Association for Overseas Technical Cooperation and Sustainable Partnerships (AOTS) จัดงานสัมมนา The Project Dissemination Seminar on Assisting the Foundation of The Smart Monodzukuri Support Team System in Thailand ในงาน METALEX 2020 ณ Robotics Cluster Pavilion ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการ ไบเทค บางนา ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนจากหน่วยงานรัฐประเทศญี่ปุ่น ร่วมเป็นเกียรติในงานด้วย
งานสัมมนา The Project Dissemination Seminar on Assisting the Foundation of The Smart Monodzukuri Support Team System in Thailand จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลงานการพัฒนาบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญของไทย และองค์กรในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นโรงงานต้นแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรม ก้าวสู่ยุค 4.0 ด้วยหลักการที่ถูกต้อง โดยผ่านกระบวนการองค์ความรู้ IVI เพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์ ประสิทธิผลของโครงการ Smart Monodzukuri Support Team for Thailand ทีมสนับสนุนอุตสาหกรรมอัจฉริยะของประเทศไทย ที่ได้เริ่มดำเนินการในปี 2563 และได้รับความร่วมมือในการนำ IoT เข้ามาใช้ แบบต้นทุนต่ำเพิ่มมูลค่าสูง สามารถนำไปขยายผลได้ ประกอบกับมีความรู้ภายในองค์กรเอง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมให้ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประธานในพิธี กล่าวว่า โครงการ Smart Monozukuri ที่จัดขึ้นนี้ จะเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร ในภาคการผลิตให้มีความรู้และทักษะที่ทันสมัย เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในภาคการผลิตให้มี ความเข้าใจในการนำ IoTs มาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายทีมสนับสนุนระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ในอุตสาหกรรมอัจฉริยะที่เข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกในการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมเหล่านี้มีส่วนในการนำประเทศไทยไปสู่การขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม อันมีเป้าหมายสำคัญในการนำพาประเทศไทยให้ก้าวผ่านกับดักประเทศรายได้ปานกลางและยกระดับไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของไทยสืบไป
ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวิน นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) กล่าวสรุปโครงการว่า "Smart Monozukuri" เป็นความสำเร็จของการปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอดในอุตสาหกรรมยุคปัจจุบันและอนาคต ด้วยการบริหารขับเคลื่อนองค์กร การบูรณาการระบบที่มุ่งเน้น ผลิตภาพที่สูง กระบวนการที่มีความยืดหยุ่น โดยการนำหลักการ Smart Monozukuri ได้โดยผ่านกระบวนการ IVI-MODEL มาเป็นส่วนช่วย โดยมุ่งเน้นการนำปัญหาหน้างานขึ้นมาดำเนินการปรับปรุงเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยความรวดเร็ว การสร้างบุคลากรที่มีความสามารถภายในองค์กร เพื่อทำให้เกิด Digital Transform ภายในองค์กร ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ซึ่งในครั้งนี้ทางโครงการ The Smart Monodzukuri Support Team System in Thailand ได้มีการดำเนินการสร้างทีมสนับสนุนอุตสาหกรรมอัจฉริยะประเทศไทย รุ่นที่ 2 และเนื่องจากอิทธิพลของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทำให้ การดำเนินการสร้างทีมสนับสนุนอุตสาหกรรมอัจฉริยะประเทศไทย รุ่นที่ 2 โดยผ่านการฝึกอบรมจะดำเนินการแบบออนไลน์ จากประเทศญี่ปุ่นในตลอดระยะโครงการของรุ่นที่ 2 แต่จะขยายขอบเขตไปยังโรงงานอาหารนอกเหนือจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และจะมีการฝึกอบรมผู้สอน ทีมสนับสนุนอุตสาหกรรมอัจฉริยะประเทศไทย รุ่นที่ 2 มากกว่า 20 คน และจากปีนี้ผู้สอน IoT ที่ได้รับการฝึกฝนในรุ่นที่ 1 กำลังจะฝึกอบรมผู้สอน IoT ในรุ่นที่ 2 เพิ่มเติมในประเทศไทย