"ไฟเซอร์" หนึ่งในบริษัทผู้วิจัยยาและชีวเวชภัณฑ์ระดับโลก ผนึกกำลัง ภาคีเครือข่าย เดินหน้ายุทธศาสตร์ลดปัญหาเชื้อดื้อยา พร้อมร่วมรณรงค์สนับสนุนการใช้ยาปฏิชีวนะถูกวิธี เร่งสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ เนื่องในสัปดาห์เชื้อดื้อยาโลก (World Antimicrobial Awareness Week 2020)
ดร.นพ. นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า "ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance: AMR) เป็นปัญหาระดับโลก ที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากคร่าชีวิตคนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในวงกว้าง และนับวันปัญหานี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ซึ่งส่งผลทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาที่เราพยายามแก้ปัญหากันมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ระบบ หรือกลไกการทำงานของสถานพยาบาล ต้องไปสนับสนุนการบริการด้านการแพทย์ในช่วงการระบาด บุคลากรทางการแพทย์ และทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่จำกัดอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการการใช้ยาต้านจุลชีพในสถานพยาบาล นอกจากนี้ลักษณะธรรมชาติของการรักษาโควิด-19 เองที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในโรงพยาบาลมากขึ้น ตลอดจนองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคที่ยังมีจำกัดในช่วงแรก ๆ ของการระบาด ทำให้การวินิจฉัยแยกโรคมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้อาจมีการใช้ยาต้านจุลชีพเพิ่มขึ้น ทั้งในกรณีที่คนไข้ยังไม่สามารถวินิจฉัยแยกโรคได้ หรือในกรณีผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคสูง อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยในด้านลบดังที่กล่าวมา แต่ก็ยังมีปัจจัยในด้านบวก อาทิ การสร้างความตระหนักในเรื่องของการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้มาตรการการป้องกันโรค อย่างเช่น การใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนตัว การล้างมือ หรือการใส่หน้ากากอนามัย เป็นที่ได้รับการยอมรับ และปฏิบัติมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กลไกการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลซึ่งจะมีผลต่อการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพมีสถานการณ์ดีขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามีปัจจัยทั้ง 2 ด้าน จึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไปว่าสถานการณ์เหล่านี้จะมีผลกระทบต่อเรื่องเชื้อดื้อยามากน้อยเพียงใด แต่เป็นที่แน่นอนว่าปัจจัยดังกล่าวได้เปลี่ยนวิธีการมองปัญหาเชื้อดื้อยาไปเล็กน้อยจากในอดีตที่ไม่มีโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้มาตรการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือกิจกรรมที่จะทำในอนาคต ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านทรัพยากรและความตระหนักรู้ให้มากขึ้น"
"ไฟเซอร์ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในระบบสุขภาพ มองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างเป็นระบบ คือการให้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งจากการใช้ยาจากมนุษย์ ในสัตว์ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน มีส่วนในการทำงานร่วมกัน โดยการใช้จุดแข็งของแต่ละกลุ่มที่มีอยู่เสริมให้เด่นชัดขึ้น เพื่อให้สามารถต่อยอดได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว สิ่งที่ไฟเซอร์ได้ร่วมสนับสนุนตั้งแต่ต้นทาง คือ การวิจัย และพัฒนายาปฏิชีวนะให้ทันกับความต้องการในสถานการณ์ของเชื้อดื้อยา แต่ในขณะเดียวกัน การพัฒนายาปฏิชีวนะใหม่ ๆ ขึ้นมาอาจจะยังไม่เพียงพอ หากเราใช้มันอย่างไม่ถูกต้อง ระยะเวลาที่จะสามารถใช้ยาปฏิชีวนะแต่ละตัวอย่างได้ผลก็จะมีระยะเวลาที่สั้นลง สิ่งที่เราทำควบคู่กันไปกับภาควิชาการให้สอดคล้องกับหน่วยงานกำกับและดูแลนโยบาย ก็คือ ทำอย่างไรที่จะมีมาตรการในการกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่าผู้ป่วยที่จะได้รับยาต้านจุลชีพเป็นผู้ป่วยที่มีความจำเป็น ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่จำเป็นต้องใช้ยานี้จริง ไม่มีการใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ ในขณะเดียวกันไฟเซอร์ ได้มุ่งเน้นการวิจัยที่จะเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ เช่น การติดตามสถานการณ์เชื้อดื้อยา การจัดทำฐานข้อมูล การเฝ้าระวังเชื้อดื้อต่อยาปฏิชีวนะ (Antimicrobial Resistance Surveillance Program) ที่ทำในระดับโลก ซึ่งไม่ใช่แต่เป็นเพียงให้ภาพรวมในสถานการณ์ระดับโลก แต่ยังสามารถให้ภาพเชิงเปรียบเทียบในแต่ละประเทศได้ และสุดท้ายสำคัญไม่แพ้กันก็คือในภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านชุลชีพโดยตรง การนำองค์ความรู้จากภาควิชาการไปสู่ประชาชนอย่างไร จึงจะทำให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาได้เร็วขึ้น และเราเชื่อว่าเราจะสามารถเป็นตัวเชื่อมในการนำองค์ความรู้ในภาควิชาการ ในสถาบันต่าง ๆ หรือสิ่งที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ และนำข้อมูลเหล่านี้ส่งต่อไปยังประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงสถานการณ์เหล่านี้ และหาทางออกร่วมกันได้"
"สำหรับไฟเซอร์ ประเทศไทย เราตั้งต้นจากแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาระดับชาติ และดูว่าเราสามารถใช้ความเชี่ยวชาญที่เรามีอยู่ หรือเครือข่ายที่เรามีอยู่ทั้งภาควิชาการหรือภาคเอกชนอื่น ๆ นำมาร่วมมือกัน จะเห็นได้จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ซึ่งเราได้มุ่งเน้น 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การติดตามสถานการณ์เชื้อดื้อยา เช่น โครงการ ATLAS (Antimicrobial Testing Leadership and Surveillance) ซึ่งเป็น Global Surveillance Program ที่มีขนาดใหญ่ในระดับโลก มองว่าประเทศไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการนี้ จึงได้เชิญสถาบันการศึกษาที่เป็นโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทยเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย เพื่อที่จะมีข้อมูลแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์เชื้อดื้อยาในประเทศไทย ซึ่งสามารถเปรียบเทียบกับประเทศอื่น รวมถึงสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ 2. การให้การสนับสนุนสถานพยาบาล ในการจัดระบบกำกับการดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาล ซึ่งในกระบวนการสนับสนุนนี้มีทั้งกิจกรรมวิชาการ ผ่านการให้ทุนสนับสนุนการ
ดำเนินงาน การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับสถานพยาบาล และยังมีการสนับสนุนการเข้าถึงสื่อการสอนออนไลน์ ที่ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ที่เราได้ร่วมมือกับสถาบันทางวิชาชีพชั้นนำในต่างประเทศ เพื่อที่จะได้มีองค์ความรู้ที่ทันสมัย และสามารถนำไปปฏิบัติจริงในหน่วยงานได้ 3. การสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มของประชาชนทั่วไป รวมถึงกลุ่มนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปสื่อสารและต่อยอด โดยได้ร่วมมือกับ THOHUN (Thailand One Health University Network) ในการจัดอบรม เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องปัญหาเชื้อจุลชีพดื้อยาทั้งในนักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมถึงสายอื่น ๆ ซึ่งจะไปต่อยอดด้วยการอบรมบุคลากร เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญ และเราเชื่อว่าความยั่งยืนของโครงการจะเกิดขึ้นเมื่อมีการต่อยอด คนที่เคยได้รับการอบรมได้ใช้ประโยชน์ และนำไปใช้ได้กับการทำงานอย่างแท้จริง" ดร. นพ. นิรุตติ์ กล่าวทิ้งท้าย
ศ.นพ.อนุชา อภิสารธนรักษ์ แพทย์อายุรศาสตร์ โรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) กล่าวถึงสถานการณ์เชื้อดื้อยาในโอกาสร่วมเวทีเสวนา Antimicrobial Resistance (AMR) in the Era of Post COVID-19 ภายในงาน Bio Asia Pacific 2020 ว่า "ปัญหาเชื้อดื้อยา เป็นปัญหาที่มีมานานมากแล้ว ซึ่งในประเทศไทยเริ่มเป็นปัญหาอย่างชัดเจน ตั้งแต่ก่อนปี 2000 แต่หลังจากปี 2000 เริ่มมีเชื้อที่ดื้อต่อยาที่เป็นยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อได้กว้าง มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้แตกต่างกับต่างประเทศมากนัก แต่ระบาดวิทยาอาจจะมีความแตกต่างกัน ถ้าหากคนไข้มีการติดเชื้อที่ดื้อยา จะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก ถึง 20-50% ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ และโรคประจำตัวของคนไข้"
"เชื้อดื้อยาถือว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญมาก แต่ประชาชนยังไม่ตระหนักรู้เทียบเท่ากับสถานการณ์ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19ในปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการควบคุมโรคโควิด-19 หากเราใช้แนวทางเดียวกัน มาควบคุมและป้องกันเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลก็น่าที่จะสัมฤทธิ์ผลได้มากขึ้น ทั้งนี้การควบคุมเชื้อดื้อยาและโรคโควิด-19 ไม่ได้มีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันเท่าใดนัก ยกตัวอย่างเช่น การล้างมือ พบว่าจากเดิมที่การล้างมือของบุคลากรทางการแพทย์มีอัตราค่อนข้างต่ำ แต่เมื่อมีสถานการณ์ โรคโควิด-19 เข้ามา อัตราการล้างมือเพิ่มสูงขึ้นถึง 90% เลยทีเดียว ซึ่งก็จะสามารถลดโอกาสที่จะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะในโรงพยาบาลได้ เช่นเดียวกับการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล และการใส่เครื่องป้องกันอย่างถูกวิธี จะเห็นได้ว่าการป้องกันนั้นมีหลายมิติที่คล้ายกัน ที่ผ่านมาประเทศไทยเอง ถือได้ว่า เป็นประเทศที่มีการบูรณาการทำงานแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะอย่างเป็นระบบ มีหลายหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทในการลดการเกิดเชื้อดื้อยาในประเทศ มีการออกนโยบาย การให้การศึกษา มีความพยายามในการควบคุมการขายยาปฏิชีวนะในร้านขายยา ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ ในโรงพยาบาล ก็มีการให้คำปรึกษาจากแพทย์ในการใช้ยาปฏิชีวนะ รวมถึงการเน้นการป้องกันการติดเชื้อ และการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล ซึ่งประเทศไทยทำได้ในระดับที่ดี และเชื่อว่าดีกว่าในหลายประเทศในทั่วโลก ไม่ได้ด้อยไปกว่าการแก้ไขสถานการณ์โรคโควิด-19 อย่างไรก็ตามในการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะยังคงต้องการความร่วมมือและให้ความสำคัญที่มากขึ้นจากทุก ๆ ฝ่าย"
ท้ายที่สุด ศ.นพ.อนุชา ได้ฝากคำแนะนำเรื่องการเลือกใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงเชื้อดื้อยาในโอกาสรณรงค์สัปดาห์เชื้อดื้อยาโลก (World Antimicrobial Awareness Week 2020) ระหว่างวันที่18-24 พฤศจิกายน 2563 ว่า "ความจริงเราอยู่ในชุมชน คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในชุมชนโรคส่วนใหญ่ไม่ได้มีความจำเป็นจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะ อาการเจ็บป่วยอย่างเช่น อาการเจ็บคอหรือเป็นไข้ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส และมีน้อยกว่า 10% ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ต้องการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เพราะฉะนั้นหากเรามีองค์ความรู้ที่ถูกต้องและนำมาใช้ โดยที่ไม่กลัวจนเกินเหตุก็จะสามารถจำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะได้มากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความรู้ทั้ง แก่ประชาชน ผู้ให้บริการทางสาธารณสุข ร้านขายยา เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม และในกลุ่มคนที่ได้รับเชื้อไวรัสที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วย ยาปฏิชีวนะ แต่สำหรับกลุ่มคนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อแบคทีเรีย หรือกลุ่มคนที่อยู่ในโรงพยาบาลและมีความจำเป็นที่ต้องได้รับยาปฏิชีวนะ อาจจำเป็นต้องดูข้อมูลระบาดวิทยาในแต่ละท้องถิ่นเพื่อใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างเหมาะสม ไม่ให้มีฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อกว้างมากจนเกินไป หากให้ยาปฏิชีวนะแล้วเราสงสัยว่าเป็นเชื้อดื้อยา เราสามารถให้ยาที่มีฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อได้กว้าง โดยถ้าเราเก็บผลเพาะเชื้อ หากได้ผลเพาะเชื้อกลับมา เราสามารถนำผลเพาะเชื้อไปปรับเปลี่ยนเป็นยาที่มีฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อที่แคบลงได้ จากนั้นก็ควรที่จะให้ยาในระยะเวลาที่เหมาะสมไม่ให้ยาวมากเกินไป หากคนไข้หายป่วยแล้วก็ควรให้หยุดยาปฏิชีวนะนั้น ๆ ตามข้อบ่งชี้ และสุดท้ายเป็นสิ่งที่อยากเน้นย้ำและสำคัญมาก คือ การป้องกัน ซึ่งส่วนใหญ่ทำได้ง่ายที่สุดโดยการล้างมือ รวมถึงการใส่เสื้อป้องกันเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล และการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล ซึ่งหากทำไม่ถูกวิธีก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุในการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาจากผู้ป่วยคนหนึ่งไปสู่ผู้ป่วยอีกคนหนึ่งได้"
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit