วิกฤตโรคระบาดของเชื้อโควิด -19 สร้างความท้าทายให้ประชากรโลกทั้งด้านสุขภาพ การดำเนินชีวิต รวมถึงสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหา "ขยะ" ที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น
ข้อมูลจาก World Bank ระบุว่า โดยเฉลี่ยมนุษย์สร้างขยะมากกว่า 2,000 ล้านตันต่อปี แต่มีเพียง 0.5 ล้านตัน เท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ใหม่ และคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 จะมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 70 หรือ 3,400 ล้านตัน
เวที SD Symposium 2020 "Circular Economy: Actions for Sustainable Future" โดยเอสซีจี และพันธมิตร ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ชุมชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้ร่วมกันระดมความคิดหาทางออกเพื่อยกระดับการคัดแยกและจัดการขยะให้เป็นวาระแห่งชาติ สนับสนุนให้มีการคัดแยกที่เหมาะสมและนำเอาขยะกลับไปใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์ใหม่ได้ ด้วยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหา เพื่อใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
"ปัจจุบัน ประเด็นสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางของผู้บริโภคเริ่มขยายวงกว้าง และเกิดการแบ่งปันข้อมูล (แชร์) กันมากขึ้น เป็นโอกาสและจังหวะที่ดีที่จะเริ่มผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง" เปรม พฤกษ์ทยานนท์ ผู้ก่อตั้งเพจ "ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป" เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและมุ่งพัฒนาเนื้อหาการคัดแยกขยะให้น่าสนใจ กล่าว
คนรุ่นใหม่ตื่นตัว "แยกขยะต้นทาง"
ภูมิ ตันศิริมาศ เยาวชนต้นแบบ นักจัดการขยะรุ่นจิ๋ว เล่าว่า เป็นเรื่องยากที่จะไม่สร้างขยะในชีวิตประจำวัน ตนเองสนใจและใส่ใจกับสิ่งรอบตัว จึงได้เริ่มลดการสร้างขยะในชีวิตประจำวัน โดยใช้ขวดน้ำแทนแก้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำถุงผ้าไปใส่สินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดสด รวมถึงนำกล่องใส่ข้าวไปซื้ออาหารสำเร็จรูป จนขยายไปสู่การพัฒนาโครงการมิชชั่นทูกรีน
"การแยกขยะไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด ขยะทุกชิ้นมีค่า หากมีการแยกและทิ้งถูกวิธี เมื่อไม่มีขยะ สิ่งแวดล้อมก็จะกลับมาสมบูรณ์"
ภาคีเครือข่ายรวมพลัง "หมุนเวียนทรัพยากร" อย่างจริงจัง
ด้าน รัมภ์รดา นินนาท รองผู้อำนวยการ เครือข่ายความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ซึ่งขับเคลื่อนโครงการ "ส่งพลาสติกกลับบ้าน" โดยร่วมกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าตั้งจุดคัดแยกขยะ และร่วมกับบริษัทที่รับขยะนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิล รวม 39 ภาคี บริหารจัดการขยะตลอดเส้นทางสุขุมวิท เพื่อลดขยะสู่บ่อฝังกลบ เพิ่มการรีไซเคิลและลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นตัวช่วยเก็บข้อมูลปริมาณขยะ ติดตาม และประเมินผล พร้อมเชื่อมต่อกับ Solution Providers ทั้งแอปพลิเคชัน PAPER X ของ SCGP ในการเก็บขยะประเภทกระดาษ และ AIS e-waste ในการเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ นำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
"ในช่วง 2 เดือนที่ดำเนินโครงการ ถือว่าได้ผลดีเกินคาด ไม่ใช่เพราะได้ปริมาณขยะถึง 2.2 ตัน แต่กว่าร้อยละ 90 ของขยะที่ผู้บริโภคนำมาทิ้งเป็นขยะที่สะอาด ทำให้เห็นถึงความตั้งใจในการแยกขยะของผู้บริโภค"
"พวงหรีดเสื่อ" ไอเดียธุรกิจใหม่ ใส่ใจลดขยะ
นนทิกานต์ อัศรัสกร นักธุรกิจรุ่นใหม่ผู้ก่อตั้งแบรนด์ "ลฤก" พวงหรีดเสื่อ กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่เริ่มตระหนักรู้ แต่ยังไม่มีจุดร่วมหรือช่องทางให้เข้ามามีส่วนร่วม จึงต่อยอดจากธุรกิจเดิมของครอบครัว นำเสื่อพลาสติก ที่ปัจจุบันผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% มาพัฒนาต่อยอด ออกแบบเป็นพวงหรีดเสื่อ เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้สูงสุด สามารถคลี่ออกมาเป็นเสื่อและอาสนะ ให้วัดใช้งานต่อไปได้ ไม่ปล่อยให้พวงหรีดกลายเป็นขยะในเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงปลายทางการใช้งาน
"ในยุคที่คนมองแต่ข้อเสียของพลาสติกว่าย่อยสลายยาก แต่ถ้าเราลองมองอีกด้านว่าการที่พลาสติกมีอายุการใช้งานได้ยาวนานเป็นข้อดี เราก็สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก ด้วยการนำพลาสติกมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบสำหรับทอเสื่อ ซึ่งปัจจุบันทำได้ 100% แล้ว ก่อนต่อยอดด้วยการนำมาทำพวงหรีดที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ ไม่เหลือทิ้งเป็นขยะ"
ธุรกิจชั้นนำระดับโลกลงขัน "เปลี่ยนขยะในทะเลเป็นทรัพยากรใหม่"
Mr.Jacob Duer President and CEO, Alliance to End Plastic Waste (AEPW) กล่าวว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายเรื่องการจัดการพลาสติกใช้แล้ว ผลการวิจัยพบว่า 5 ปีที่ผ่านมา มีขยะถึง 11 ล้านตัน ถูกปล่อยลงในมหาสมุทร หากไม่มีการจัดการที่ดี ขยะจะเพิ่มขึ้นถึง 29 ล้านตันในปี 2040 ปัญหานี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ตื่นตัว และเป็นผู้นำสร้างเครือข่ายธุรกิจ ปฏิรูปอุตสาหกรรมพลาสติกด้วยการรวมกลุ่มกัน ช่วงเริ่มต้นในปี 2019 มีสมาชิก 20 ราย และเพิ่มเป็น 50 รายในปี 2020 โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในการจัดการขยะในทะเลให้เป็นทรัพยากรใหม่ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ประมาณ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีความร่วมมือที่กำลังช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ถึง 25 โครงการ ใน 10 เมือง
วงการก่อสร้างใช้หลัก Circular Economy ก้าวสู่ Green & Clean Construction
ประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา การก่อสร้างเติบโตขึ้น นำมาซึ่งเศษวัสดุที่เหลือจากการก่อสร้างถึงร้อยละ 20-25 ที่ถูกทิ้ง วงการอุตสาหกรรมก่อสร้างจึงได้รวม 5 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการก่อสร้าง ได้แก่ สถาปนิกและที่ปรึกษาโครงการ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และผู้บริหารจัดการของเสีย ภายใต้ "เครือข่ายความร่วมมือองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy in Construction Industry- CECI)" เพื่อแก้ไขและหาทางออกให้กับปัญหาวัสดุเหลือทิ้งจากการก่อสร้าง ด้วยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้
"ขยะจากการก่อสร้าง เกิดจากการออกแบบและการก่อสร้างที่ไม่สัมพันธ์กัน จึงต้องแก้ปัญหาตั้งแต่จุดเริ่มต้น คือ ออกแบบอย่างไรไม่ให้เหลือเศษวัสดุ ซึ่งเศษวัสดุเป็นเงินมหาศาลที่ส่งผลกระทบทั้งเจ้าของโครงการและผู้บริโภค จึงมีการใช้เทคโนโลยี BIM - Building Information Modeling ในการออกแบบ ที่ช่วยให้เห็นภาพงานก่อสร้าง และปริมาณวัสดุที่ต้องใช้ก่อนการลงมือก่อสร้าง ช่วงเริ่มต้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว มีเครือข่ายพันธมิตรไม่ถึง 10 องค์กร แต่เรามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องขยายให้ครอบคลุมทั้งวงการก่อสร้าง จนปัจจุบันมีเครือข่ายประมาณ 30 องค์กร"
"ยื่นข้อเสนอสมุดปกขาว" เพื่อขับเคลื่อนการจัดการขยะด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
การระดมความคิดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดกระบวนการจัดการขยะจากเวทีนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการสรุปข้อเสนอแนะ (White Paper) เพื่อยื่นเสนอต่อภาครัฐและหวังให้เกิดการปฏิบัติในทุกภาคส่วน ด้วยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ยกระดับการคัดแยกและจัดการขยะให้เป็นวาระแห่งชาติ ปรับปรุงหรือเพิ่มเติมกฎหมายบังคับใช้เรื่องการจัดการขยะอย่างจริงจัง โดย
"หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถนำมาใช้กับการบริหารจัดการทรัพยากรได้รอบตัว โดยเฉพาะการเปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน มีหลายชุมชนดำเนินการแล้ว เพื่อไม่ส่งต่อขยะให้คนรุ่นลูกหลาน ซึ่งปัจจุบันมีทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน และชุมชนเริ่มดำเนินการนำร่องบริหารจัดการขยะให้สำเร็จ อาทิ คุ้งบางกระเจ้า ตลาดสี่มุมเมือง จุฬาซีโร่เวสต์ และทีอาร์บีเอ็น" ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวสรุป
รัฐปรับกระบวนทัศน์ผนึกทุกภาคส่วนร่วมผลักดัน BCG เคลื่อนเศรษฐกิจยั่งยืน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากโควิด -19 ทำให้ต้องเร่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ 3 มิติ ตามนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน โดยภาครัฐต้องปรับตัวและแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโยบาย
"มีหลายปัจจัยที่จะช่วยให้เรื่องนี้สำเร็จ ทั้งเรื่องนโยบายของภาครัฐที่ได้เริ่มขึ้นแล้ว จึงต้องช่วยกันผลักดันต่อสู่การปฏิบัติ ด้วยการบูรณาการและเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม โดยต้องเปลี่ยนความคิดและวิธีการทำงาน รวมถึงการมีแหล่งเงินทุน เพื่อให้ชุมชนหรือสตาร์ทอัพ สามารถขับเคลื่อนให้ตอบโจทย์ BCG มากขึ้น และการสร้างการตระหนักรู้การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าสูงสุด ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ พร้อมกับการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน"
เราต่างมีส่วนร่วมสร้างให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ขณะเดียวกันทุกคนต่างก็มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาได้ด้วยเช่นกัน การยกระดับการคัดแยกและจัดการขยะให้เป็นวาระแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้จริง ทุกภาคส่วนต้องประสานความร่วมมือ แล้ว "ขยะ" จะกลายเป็น "ทรัพยากร" ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้หมุนเวียนต่อไปได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit