ACT FORUM '20 Design + Built หรือ งานสภาสถาปนิก ถือเป็นงานด้านสถาปัตยกรรมงานเดียวแห่งปีที่รวบรวมทุกเรื่องราวด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ และก่อสร้างไว้อย่างครบครัน เริ่มต้นขึ้นแล้ววันนี้ โดยมีกำหนดจัด ระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น. ที่ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งในพิธีเปิดมีหนึ่งไฮไลต์สำคัญ นั่นคือการกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "สถาปนิกกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2564" โดย คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยให้เห็นทิศทางของเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2564 ในหลายประเด็นที่น่าสนใจ
ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ความหลากหลาย
สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้อย่างมาก ส่งผลให้ตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 ติดลบอยู่ที่ 12.2% เรียกได้ว่าต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ก่อนหน้านี้ประเมินว่าตัวเลขในไตรมาส 3 จะดีขึ้น อยู่ที่ติดลบ 7.5% แต่จากการคลายล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้และสถานการณ์โดยรวมของประเทศดีขึ้น ปรากฏว่าในไตรมาส 3 นี้ GDP ติดลบอยู่ที่ 6.4% ซึ่งดีขึ้นกว่าในไตรมาสก่อนหน้า และดีกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้
จากเดิมที่เคยประเมินว่าตลอดทั้งปี พ.ศ. 2563 GDP จะติดลบที่ประมาณ 7.5% จึงปรับตัวเลขเหลือ ติดลบ 6% หากสถานการณ์ยังดีขึ้นเรื่อยๆ มีการร่วมแรงร่วมใจกัน หรืออาจมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็มีความเป็นไปได้ว่าในปี พ.ศ. 2564 เราอาจจะพลิกการเติบโตของ GDP กลับมาเป็นบวกได้ประมาณ 4% อย่างไรก็ตามจากปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าประเทศของเรายังขาดความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจที่มากพอจะรองรับวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ในระยะถัดไปเราจึงจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่ผ่านมาเราเน้นพึ่งพาการท่องเที่ยวกับการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ในโครงสร้าง ในระยะถัดไปเราจึงต้อง Diversify หรือสร้างความหลากหลายในโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ Sectors ใหม่ๆ เช่น กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสุขภาพและการป้องกัน รวมทั้ง Medical Care หรือการรักษา ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องลงทุนกันต่อไปในอนาคต
สถาปนิกกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
เมื่อเราต้องสร้างความหลากหลายในโครงสร้างเศรษฐกิจเช่นนี้ บทบาทของสถาปนิกจะมีผลอย่างไรบ้าง? สถาปนิกจะมีบทบาทสำคัญมาก ในประการแรก ทิศทางเศรษฐกิจของไทย จะเน้นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลักเมืองรองต่างๆ โดยการพัฒนาเมืองหลักนั้นจะเน้นให้เป็น Growth Pole หรือศูนย์กลางการเติบโต แล้วกระจายไปสู่เมืองรองต่างๆ สร้างโอกาส สร้างแหล่งงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับประชาชน ให้เขาไม่ต้องเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือความเป็นเมืองจะขยายมากขึ้น ชนบทกับเมืองจะใกล้ชิดเข้าหากันมากขึ้น ดังนั้นในอนาคตการวางผังเมืองในเมืองหลักและเมืองรองจะกลายมาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งจุดนี้เป็นบทบาทสำคัญของสถาปนิก ในการที่จะใช้ความเชี่ยวชาญในการวางผังเมืองที่มีความเหมาะสม รองรับการเติบโต
ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นผสานการพัฒนาเมือง
ประการที่สอง เมื่อเราต้องพัฒนาเมืองให้กระจายการเติบโตออกไป อีกสิ่งที่สำคัญคือการดึงเอาอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาผสมผสานให้แต่ละเมืองเกิดความแตกต่างที่น่าดึงดูดใจ เพราะหากขาดอัตลักษณ์แล้ว การพัฒนาเมืองแต่ละเมืองก็จะดูเหมือนๆ กันหมด ขาดความน่าดึงดูดใจ สำหรับเมืองหลักที่มีการพัฒนาไปแล้วอย่างเช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ในอนาคตก็จะต้องมีการเติมเต็มเรื่องอัตลักษณ์ให้มีความชัดเจน ในอนาคตจะได้เห็นความร่วมมือจากภาครัฐและท้องถิ่นมากขึ้นในการพัฒนาภูมิทัศน์ของเมืองให้มีความน่าอยู่ มีการวางผังเมืองที่มีประสิทธิภาพผสานการชูอัตลักษณ์ของแต่ละท้องที่ ซึ่งนี่เป็นจุดสำคัญที่ต้องอาศัยคนในวิชาชีพสถาปนิกเข้ามามีบทบาทสำคัญ
ดันประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ประการที่สามที่สถาปนิกจะมีบทบาทช่วยได้อย่างมาก คือ ทิศทางการพัฒนาประเทศต่อจากนี้ จะมุ่งขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development ซึ่งประเทศของเราได้ลงนามใน The Paris Agreement ว่าจะมีการลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนลดราว 20% ในอีก 20 ปีข้างหน้า จากปริมาณที่เราปล่อยอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นทางสังคมที่ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน เพราะไม่เพียงแต่การลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม หรือการคมนาคม แต่ยังรวมถึงการออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน อันจะส่งผลช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งบทบาทของสถาปนิกก็ช่วยขับเคลื่อนประเด็นนี้ได้เป็นสำคัญ เพราะสถาปนิกเป็นวิชาชีพที่มี Creative Mind มีความคิดสร้างสรรค์ในการคิดค้นนวัตกรรม ทั้งการออกแบบก่อสร้าง นวัตกรรมวัสดุ ที่จะมาเติมเต็มดีมานด์การก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงานเหล่านี้ แน่นอนว่าจะส่งผลต่อไปยังภาคการผลิตวัสดุก่อสร้างด้วย เพราะจะเกิดดีมานด์ของสถาปนิก ที่ทำให้ฝั่งผู้ผลิตจะต้องไปคิดค้น วิจัย และผลิตขึ้นมาให้ตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อมาคือผลิตภัณฑ์วัสดุนวัตกรรมเหล่านี้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้
สถาปนิกปันสุข….สู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน
ประการสุดท้าย เมื่อเมืองกับชนบทมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ชุมชมต่างๆ ก็จะขึ้นมามีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันการผลิตสินค้าของชุมชนยังมีปัญหาอยู่มาก มีผลทำให้สินค้าไม่ได้รับความสนใจหรือไม่ดึงดูดใจผู้ซื้อ ซึ่งจากการได้พูดคุยกับอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ก็มีเคสที่ชุมชนผลิตสินค้าพื้นบ้านออกมาแล้วขายไม่ดี ขายไม่ได้ จนวันหนึ่งมีสถาปนิกที่เป็นลูกหลานของชุมชน เข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่มีดีไซน์ทันสมัยสวยงามเหมาะสม มีบรรจุภัณฑ์ที่น่าซื้อ ก็ช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้และทำให้สินค้าขายดีขึ้น จากเดิมที่ทำขายกันตามมีตามเกิด ซึ่งในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนนี้ ก็เชื่อว่าคนในวิชาชีพสถาปนิกจะมีบทบาทที่สำคัญมากที่จะช่วยเหลือให้เศรษฐกิจในระดับชุมชนนั้นดีขึ้น กลายเป็นรากฐานที่มั่นคงของการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ
จากการกล่าวปาฐกถาครั้งนี้ทำให้เห็นว่าสถาปนิกนั้นมีบทบาทอย่างมากในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ACT FORUM '20 Design + Built หรือ งานสภาสถาปนิก จึงได้จัดเวทีสัมมนาจากวิทยากรชั้นนำระดับประเทศและระดับโลก กว่า 40 ชีวิต ครอบคลุมเนื้อหาองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมทั้ง 4 สาขา ได้แก่ สถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมผังเมือง รวมถึงเทรนด์ด้านการออกแบบ ให้เหล่าสถาปนิกและผู้ที่สนใจได้อัพเดทความรู้กันอย่างเต็มอิ่ม พร้อมรับกับโอกาสใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต รวมถึงมีการจัดแสดงนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างจากแบรนด์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศไว้อย่างครบครันจากกว่า 350 บริษัท ระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น. ที่ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.ActForumExpo.com
รับฟังปาฐกถาแบบเต็มๆ ได้ที่ https://fb.watch/1RX6cguLyO/
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit