มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันแรกของไทยที่พยายามผนวกองค์ความรู้ทางด้านศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน บนพื้นฐานที่เข้าใจในความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคม โดย วิทยาลัยนานาชาติ (MUIC) ได้ร่วมกับ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MUICT) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และวิทยาลัยราชสุดา ริเริ่มจัดตั้งหลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Bachelor of Arts and Science in Creative Technology) ขึ้นเป็นหลักสูตรต้นแบบ หลักสูตรแรกในประเทศไทย โดยมุ่งผลิตบัณฑิตที่สามารถเชื่อมต่อโลกแห่งเทคโนโลยีกับความต้องการที่หลากหลายของผู้คนในสังคมจากการศึกษาแบบข้ามศาสตร์ได้อย่างสร้างสรรค์
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า หลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Bachelor of Arts and Science in Creative Technology) เป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์ของสังคมในการสร้างบัณฑิตที่จะเป็นอนาคตของประเทศชาติต่อไปในอนาคต โดยมหาวิทยาลัยมหิดล มีความตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนบริบทของการดำเนินการเรียนการสอน โดยใช้จุดแข็งที่เรามีจาก วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตรนานาชาติที่มีการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ผลิตบัณฑิตกว่า 8,800 คน ในช่วงกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา โดยร่วมกับ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MUICT) ซึ่งมีการเรียนการสอนที่โดดเด่นทางด้าน Computer Science ที่มีส่วนทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลได้เป็นอันดับ 1 ของไทย จากการจัดอันดับ Time Higher Education World University Ranking 2021 by Subject นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านดนตรีแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพหลักสูตรจากสถาบันด้านการรับรองคุณภาพหลักสูตรดนตรีของยุโรป "MusiQuE" และ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำระดับอาเซียน ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อร่วมทำให้หลักสูตรที่สร้างสรรค์ขึ้นนี้สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของคนในสังคมได้อย่างครอบคลุม ผ่านการออกแบบทางความคิด (Design Thinking) ที่สร้างสรรค์
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) กล่าวว่า หลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Bachelor of Arts and Science in Creative Technology) เป็นหลักสูตรที่ผสมผสานเทคโนโลยี และการออกแบบเข้าด้วยกัน บนพื้นฐานแห่งความเชื่อที่ว่า การออกแบบ Eco-systems ที่เหมาะสมจะทำให้เกิดชีวิตที่ดี ซึ่งโลกปัจจุบันต้องการบัณฑิตที่มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการเป็นผู้รู้เพียงศาสตร์เดียวอาจไม่เพียงพอ หลักสูตรนี้จึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนข้ามศาสตร์ร่วมกับนักศึกษาต่างคณะ ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีความต้องการพิเศษที่หลากหลาย โดยเชื่อว่า "สังคมที่ดี คือสังคมที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน รวมถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางความต้องการเช่นเดียวกัน"
อาจารย์ ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (MUICT) กล่าวว่า MUICT มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนด้าน Computer Science จากคณาจารย์ที่มากด้วยประสบการณ์ด้วยดีกรีจากมหาวิทยาลัยระดับ World Class อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และออสเตรเลีย ฯลฯ ซึ่งสามารถการันตีได้ถึงความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ที่ผู้สอนจากสถาบันชั้นนำระดับโลกดังกล่าวจะได้นำมาถ่ายทอดเพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสามารถก้าวสู่โลกแห่งเทคโนโลยีสร้างสรรค์ได้อย่างมั่นใจในการประกอบอาชีพในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น Gaming, VR Technology และ Programming ซึ่งเป็นความชำนาญของเรา โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์ที่ต้องอาศัยความรู้ทางด้านศิลปะ อย่างเช่น Graphic Designer, Fine Arts หรือ Music Producing ได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ จากการเรียนหลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Bachelor of Arts and Science in Creative Technology) ผู้เรียนจะได้มีโอกาสศึกษาเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารที่แตกต่างหลากหลายจากมุมมองของผู้ที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจที่ครอบคลุมถึงความต้องการที่แตกต่างหลากหลายอีกด้วย
อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จุดอ่อนของตลาดสื่อสร้างสรรค์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่พบในปัจจุบัน คือ การขาดความรู้ด้านดนตรี โดยสามารถเลือกเรียนได้อย่างครบวงจรจากหลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Bachelor of Arts and Science in Creative Technology) ซึ่งที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีครบพร้อมโดยครอบคลุมถึงการจัดการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีดนตรีที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การแต่งเพลงประกอบเกม การจัดทำสื่อสร้างสรรค์อื่นๆ หรือต่อยอดเรียนดนตรีเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต รวมทั้งสามารถขยายโอกาสไปถึงผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งการสามารถรวมทุกอย่างเข้าด้วยกันในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย เป็นความงดงาม และเป็นต้นแบบที่ดีของสังคมแห่งความเอื้ออาทร
เพื่อความเข้าใจในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย ก่อนการจัดตั้งหลักสูตรฯ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัด "ชั้นเรียนภาษามือ" ให้ 4 คณบดีที่ร่วมพัฒนาหลักสูตร ซึ่งได้แก่ วิทยาลัยนานาชาติ (MUIC) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MUICT) และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าถึงประสบการณ์ร่วมกันในห้องเรียนจำลอง โดย อาจารย์ แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาษามือเกิดจากวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนหูหนวก ซึ่งมีรูปแบบการใช้ที่แตกต่างจากการใช้ภาษาไทยปกติ ซึ่งหากเราเข้าใจวัฒนธรรมของคนหูหนวก เราจะเข้าใจภาษามือของคนหูหนวกด้วย และจะดีเพียงใดหากเราสามารถสร้าง Eco-systems ให้ผู้คนในสังคม ซึ่งนอกจากคนทั่วไป คนหูหนวก ยังรวมถึงผู้ที่มีความต้องการพิเศษในด้านอื่นๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน และเข้าถึงกันมากยิ่งขึ้น โดยผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์พิเศษดังกล่าวจากชั้นเรียนหลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Bachelor of Arts and Science in Creative Technology)
ติดตามรายละเอียดของหลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Bachelor of Arts and Science in Creative Technology) และสมัครได้ที่ www.muic.mahidol.ac.th
HTML::image(