การดำเนินการสำรวจในผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีและบุคคลที่มีความเสี่ยงที่พบกับการเปลี่ยนแปลงแบบไม่ทันเตรียมการ ในการรับบริการด้านเอชไอวี

30 Nov 2020

ผลการสำรวจเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการสำรวจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกครั้งแรกที่ประเมินผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในการเข้าถึงและการให้บริการด้านเอชไอวีในภูมิภาค

การดำเนินการสำรวจในผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีและบุคคลที่มีความเสี่ยงที่พบกับการเปลี่ยนแปลงแบบไม่ทันเตรียมการ ในการรับบริการด้านเอชไอวี

การสำรวจนี้จะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำโทรเวชกรรม (telemedicine) มาใช้ระหว่างผู้รับบริการกับบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลด้านเอชไอวีในอนาคต

การระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเข้ารับบริการด้านเอชไอวี ของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีและบุคคลที่มีความเสี่ยงที่โรงพยาบาลหรือคลินิกนั้น มีจำนวนลดลงมากอย่างเห็นได้ชัด จากข้อมูลการสำรวจที่ได้ดำเนินการอยู่โดยกิลเลียดไซแอนซ์และสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวีพบว่า ประมาณร้อยละ 82 ของผู้ให้บริการด้านเอชไอวี สังเกตว่า ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี มาสถานพยาบาลน้อยครั้งลงหรือมาเลยวันนัด ขณะที่จำนวนร้อยละ 45 ได้รายงานว่าบุคคลที่มีความเสี่ยงมาสถานพยาบาลน้อยลงเช่นกัน โดยแนวโน้มเช่นนี้อาจยังปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องตามที่ผู้ให้บริการได้กล่าวถึงข้อจำกัดในการเดินทางที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีและผู้ที่มีความเสี่ยงที่ต้องการรับบริการที่สถานพยาบาล

ตามที่ปรากฏในรายงานโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติฉบับล่าสุด ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ได้บรรลุเป้าหมาย 90-90-90 ด้านการตรวจและรักษาเอชไอวี แต่ในขณะที่การติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในประเทศไทยมีจำนวนลดลงจากโครงการเชิงรุกที่ประสบผลสำเร็จ ประเทศไทยก็ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความชุกของเอชไอวีสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอยู่ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันทำให้ความสามารถในการดูแลรักษาผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี และมุ่งที่จะลดการติดเชื้อรายใหม่และหยุดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ลดลงไป

"แม้ว่าประเทศไทยจะได้ผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์และประชาชนเริ่มใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติแล้วก็ตาม แต่เราควรต้องตระหนักถึงความจำเป็นในการมีมาตรการที่จะป้องกันการเปลี่ยนแปลงแบบไม่ทันตั้งตัวเช่นนี้อีกในอนาคต ความต่อเนื่องของการให้บริการด้านการป้องกันและดูแลรักษาเอชไอวีมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในการที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่า ความพยายามของเราในการลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในอดีตที่ผ่านมาหลายทศวรรษจะไม่สูญเปล่า เพื่อให้บรรลุยุทธศาสตร์ชาติในการยุติเอชไอวีที่ถือเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขภายในปี 2030 นี้" แพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวีกล่าว

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสิบประเทศของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสำรวจนี้ เพื่อประเมินผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ในการเข้ารับบริการด้านเอชไอวี ทั้งการตรวจหาการติดเชื้อ การรักษา และการป้องกัน ผู้ร่วมทำแบบสำรวจมีจำนวนทั้งหมด 1,265 คน ซึ่งได้แก่ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี บุคคลที่มีความเสี่ยง และผู้ให้บริการด้านเอชไอวี ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยผู้ตอบแบบสำรวจนี้จำนวน 83 คนเป็นคนไทย การวิเคราะห์คำตอบที่ได้จากการสำรวจยังได้ให้มุมมองและสร้างความเข้าใจในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

  • กว่าครึ่งหนึ่งของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายในการเข้าถึงการรักษาเอชไอวี ประมาณร้อยละ 55 ของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อฯ ที่ตอบแบบสำรวจได้กล่าวถึงการติดขัดในการเข้าถึงการรักษา โดยร้อยละ 47 กล่าวถึงการใช้ยาต้านไวรัสว่า พวกเขาลดการใช้ยาลงหรือหยุดการใช้ยาไปเลย ขณะเดียวกันร้อยละ 60 ของผู้ให้บริการเอชไอวีสังเกตว่า การออกใบสั่งยาเพื่อการป้องกันในผู้ที่มีความเสี่ยงก็ลดลงด้วยในช่วงการระบาดของโควิด-19
  • ถึงแม้ผู้ตอบแบบสำรวจได้ประสบกับข้อจำกัดในการเข้าถึงการใช้ยารักษาเอชไอวี แต่พวกเขาก็มิได้กังวลถึงการได้รับการดูแลระยะยาว โดยร้อยละ 29 ของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี และร้อยละ 31 ของผู้มีความเสี่ยงได้แสดงให้เห็นถึงประเด็นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการตอบสนองในเชิงบวกอย่างรวดเร็วของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทย เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการสร้างหลักประกันถึงการให้บริการที่สำคัญ ในเดือนตุลาคม สปสช. และสำนักงานประกันสังคมได้ผนวกเอาแนวทางในการออกใบสั่งยาในการรักษาโดยการให้ยาต้านไวรัสเป็นเวลาหกเดือนให้กับผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีทุกคน
  • มีการนำโทรเวชกรรมมาใช้แต่ยังมิได้นำมาใช้ในการดูแลผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีอย่างสมบูรณ์ ร้อยละ 57 ของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อและผู้มีความเสี่ยง กล่าวว่า พวกเขามิได้ใช้โทรเวชกรรมหรือการบริการพูดคุยผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ระหว่างผู้รับบริการกับแพทย์ ส่วนผู้ที่ตอบแบบสำรวจที่ได้รับการดูแลผ่านโทรเวชกรรมนั้นได้กล่าวว่า การปรึกษาทางโทรศัพท์เป็นการบริการที่ได้รับความนิยมมากที่สุด (ร้อยละ 56) ตามด้วยการจ่ายยาทางไกล (ร้อยละ 24) และการปรึกษาผ่านการพูดคุยแบบเห็นหน้า (ร้อยละ 17) จำนวนร้อยละ 73 ของผู้ให้บริการเอชไอวีคาดว่า จะมีการใช้โทรเวชกรรมเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากการบริการดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวก (ถึงร้อยละ 88) ลดการถ่ายทอดเชื้อ (ร้อยละ 63) ทำให้มีผู้เข้าถึงบริการมากขึ้น (ร้อยละ 50) รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ (ร้อยละ 50)

"โรคระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ทำให้ระบบสาธารณสุขต้องนำเอากลยุทธ์ต่าง ๆ ออกมาใช้อย่างทันท่วงที เพื่อที่จะไม่ทำให้การให้บริการแก่ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อฯ และผู้ที่มีความเสี่ยงต้องหยุดชะงัก โดยต้องไม่เพิ่มภาระให้แก่สถานพยาบาลด้วย การให้บริการโทรเวชกรรม ทั้งในด้านการรักษา และการป้องกันเอชไอวี จึงถือเป็นโอกาสที่เราจะปรับใช้นวัตกรรมทางดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด และอาจเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านเอชไอวีในอนาคตได้อีกด้วย" แพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวีกล่าว

"การสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่า การสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงการบริการเอชไอวีเป็นสิ่งสำคัญในด้านสาธารณสุขลำดับต้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อยังไม่มีความแน่นอนว่าการระบาดจะยุติเมื่อใด กิลเลียดมีหน้าที่ในการประสานงานร่วมมือกับชุมชนด้านเอชไอวีตั้งแต่หน่วยงานด้านสาธารณสุขไปจนถึงผู้ออกใบสั่งยา กลุ่มผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ และภาคประชาสังคมในประเทศไทยและทั่วภูมิภาค เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะช่วยปิดช่องว่างในการดูแลรักษาอันจะเป็นหลักประกันถึงการให้บริการด้านการดูแลรักษาผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้ต่อไป" บุน-เลิง นีโอ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกิจการทางการแพทย์ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กิลเลียดไซแอนซ์

เกี่ยวกับการทำการสำรวจ
"ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อการเข้าถึงและการให้การดูแลผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก" ได้ดำเนินการสำรวจผ่านระบบออนไลน์ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม จนถึง ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2020 ใน 10 ประเทศและดินแดนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม) โดยกันตาร์เฮลธ์ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากกิลเลียดไซแอนซ์ และการให้แนวทางและการสนับสนุนจากสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี การสำรวจนี้ได้เผยแพร่ให้กับสังคมการแพทย์ กลุ่มผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี และศูนย์ดูแลผู้อยู่ร่วมกับเชื้อทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผู้ตอบแบบสำรวจมีจำนวน 1,265 คน ประกอบด้วยผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี 667 คน กลุ่มผู้มีความเสี่ยง 455 คน และผู้ให้การบริการด้านเอชไอวี 143 คน วัตถุประสงค์ของการทำการสำรวจนี้ คือ เพื่อประเมินสถานะปัจจุบัน รวมทั้งช่องว่าง และอุปสรรคในการเข้ารับการรักษาเอชไอวีในช่วงการระบาดของโควิด-19 ผลที่ได้จากการสำรวจจะทำให้เห็นถึงผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดูแลรักษาผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี และทำให้เห็นแนวทางอื่น ๆ ที่ระบบสุขภาพ รวมทั้งชุมชนผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี สามารถปรับยุทธศาสตร์เพื่อคงไว้ซึ่งการให้บริการการดูแลรักษาเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้

เกี่ยวกับกิลเลียดไซแอนซ์อินคอร์ปอเรชั่น
กิลเลียดไซแอนซ์อินคอร์ปอเรชั่นเป็นบริษัทเกี่ยวกับยาชีวเภสัชภัณฑ์ที่ทำการค้นคว้าวิจัยซึ่งค้นพบ พัฒนา และจัดจำหน่ายยาเชิงนวัตกรรมในขอบเขตความต้องการด้านการแพทย์ บริษัทพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงและสร้างความสะดวกในการดูแลรักษาโรคให้แก่ผู้ป่วยทั่วโลกที่กำลังเจ็บป่วยด้วยโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต กิลเลียดได้ดำเนินการอยู่ในมากกว่า 35 ประเทศทั่วโลก โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองฟอสเตอร์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมของกิลเลียดไซแอนซ์

เกี่ยวกับสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี
สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวีเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ด้วยประสบการณ์เกือบสองทศวรรษที่ได้ทำงานอยู่ในด้านการวิจัยและโครงการด้านสุขอนามัยทางเพศ องค์กรได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ สถาบันฯ ดำเนินงานวิจัยเชิงคลินิกและเชิงปฏิบัติการ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันเอชไอวีและประเด็นด้านสุขภาพอื่นๆ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่สุขภาพชุมชน และผู้ให้บริการสุขภาพ ร่วมกับภาคีหน่วยงานด้านสุขภาพอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังร่วมมือกับภาครัฐ เครือข่ายด้านสุขภาพ องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งในประเทศและนานาชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพในภูมิภาค โดยมุ่งเน้นในเรื่องสุขอนามัยทางเพศ สถาบันฯ ยังคงเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่นำความรู้เชิงนวัตกรรม และหลักฐานเชิงประจักษ์ไปใช้เพื่อการพัฒนาในเชิงนโยบายและการขยายผลสู่การปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้น หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit