ภายหลังการขุดพบซากโครงกระดูกวาฬอายุประมาณ 3,000 - 5,000ปี บริเวณตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร จากข้อสันนิษฐานเบื้องต้น พบว่า ลักษณะกระดูกที่พบมีลักษณะเดียวกับที่พบในวาฬบรูด้า ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจวิเคราะห์โดยละเอียด ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้พื้นที่ดังกล่าวสมบูรณ์มาแต่ยุคอดีต ธรรมชาติเก็บหลักฐานเป็นเครื่องพิสูจน์ความสมบูรณ์ของพื้นที่ อีกทั้งเป็นเครื่องแสดงให้ทุกฝ่ายร่วมกันอนุรักษ์ ดูแลให้คงอยู่อย่างสมดุล และยั่งยืน ต่อไป
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ติดตามการสำรวจขุดค้นโครงกระดูกวาฬ บริเวณตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ว่า ตนได้รับทราบจากรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีการขุดพบซากกระดูกวาฬตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งโดยวันนี้ (25 พฤศจิกายน 2563) ตนพร้อมด้วย ท่านปลัดกระทรวง ทส. นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ลงพื้นที่ติดตามการขุดค้นซากวาฬ เบื้องต้น ทางทีมนักสำรวจและนักวิชาการระบุว่า อายุของซากวาฬประมาณ 3,000 - 5,000 ปี ซากกระดูกเริ่มมีการแทนที่ด้วยแร่ธาตุแล้วบางส่วน ซึ่งนับว่าเป็นกึ่งซากดึกดำบรรพ์ (Subfossil) ซึ่งจะต้องตรวจสอบโดยละเอียดด้วยวิธีศึกษาธาตุคาร์บอน-14 อีกครั้ง สำหรับชนิดพันธุ์ของซากวาฬดังกล่าว ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้นำทีมนักวิชาการพิสูจน์อัตลักษณ์เบื้องต้น พบว่า ลักษณะกระดูกที่พบมีลักษณะเดียวกับที่พบในวาฬบรูด้า อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิชาการดังกล่าวจะได้ตรวจพิสูจน์โดยละเอียด ต่อไป สำหรับการขุดค้นพบครั้งนี้ จุดที่พบห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันประมาณ 12 กิโลเมตร ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงการรุกของน้ำทะเลเข้ามาในแผ่นดินเมื่อหลายพันปีก่อน อีกทั้งสามารถศึกษาประวัติและวิวัฒนาการของวาฬและสัตว์ทะเลในอดีต และได้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพจากการพบซากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ที่มีมานับพันปี ซึ่งปัจจุบันพื้นที่นี้ก็ยังคงความสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี เรายังพบเห็นวาฬบรูด้าประมาณ 50 ตัว นอกจากนี้ พื้นที่อ่าวไทยตอนบน ยังพบโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนกหรือโลมาเผือก และโลมาหัวบาตรหลังเรียบ สุดท้ายตนอยากจะฝากถึงพี่น้องประชาชนทุกคน
"ทะเลประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์มานับหลายพันปี ธรรมชาติเก็บหลักฐานความสมบูรณ์ ให้เราได้เห็น ซากดึกดำบรรพ์เป็นตัวเก็บเรื่องราวในอดีตให้เราได้เรียนรู้ เป็นเครื่องบ่งชี้ความสมบูรณ์ในอดีตและที่สำคัญเป็นเครื่องสะท้อนให้เราต้องตระหนักว่า ความสมบูรณ์มิได้เกิดขึ้นในรุ่นเรา หน้าที่ของเรา คือ ดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์นี้ ให้คงอยู่อย่างมีชีวิต สมดุล และยั่งยืน"
สำหรับการดำเนินการของหน่วยงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เร่งรังวัดพื้นที่ พร้อมจัดทำแผนที่และผังการวางตัวของโครงกระดูกวาฬ เก็บกู้และอนุรักษ์ซากกระดูก หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายต้องป้องกันมิให้เกิดความเสียหาย นอกจากนี้ ตนได้มอบหมายให้นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำทีมนักวิชาการและสัตวแพทย์ ลงพื้นที่ตรวจพิสูจน์ซาก เพื่อหาอัตลักษณ์เฉพาะของวาฬ เพื่อระบุชนิดพันธุ์ที่ถูกต้องชัดเจน ซึ่งล่าสุดการขุดค้นได้มากกว่า 80% พบกะโหลกพร้อมขากรรไกรสภาพสมบูรณ์มีความยาวประมาณ 3 เมตร และความยาวทั้งตัวประมาณ 12 เมตร กระดูกสันหลังที่สมบูรณ์ 19 ชิ้น กระดูกซี่โครง ข้างละ 5 ชิ้น สะบักไหล่และแขน (ครีบ) ด้านซ้าย และกระดูกสันหลังส่วนลำตัวถึงส่วนคอ นอกจากนี้ ตนคิดว่าในพื้นที่ดังกล่าวอาจจะมีซากดึกบรรพ์ของสัตว์ทะเลกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งหากพี่น้องประชาชนในพื้นที่พบเห็นซากหรือสงสัยว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ ขอให้แจ้งหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โดยเร็ว เพื่อจะได้ตรวจพิสูจน์และดำเนินการรักษา คุ้มครอง ต่อไป นายจตุพร กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit