วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันดำรงราชานุภาพ" เพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บุคคลสำคัญของโลกที่ UNESCO ยกย่องในฐานะพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2554 ได้ให้คำนิยามคำว่า "พิพิธภัณฑสถาน" หมายถึง สถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรม หรือด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถคว้า 3 รางวัล จากงาน Museum Thailand Awards 2020 ซึ่งจัดโดย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หน่วยงานภายในของสำนักบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มอบแก่องค์กรที่ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานพิพิธภัณฑ์สากล
1 ใน 10 Museum Thailand Popular Vote 2020 หรือ รางวัลพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน ได้แก่ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล โดย หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก เป็นสถานที่จัดแสดงพระราชประวัติและสิ่งของสำคัญเกี่ยวกับ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือ "สมเด็จพระบรมราชชนก" ผู้ทรงเป็นต้นราชสกุล "มหิดล" อันเป็นนามพระราชทานแห่ง "มหาวิทยาลัยมหิดล" โดยได้มีการรวบรวมเอาพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชนชาวไทยและมวลมนุษยชาติในด้านต่างๆ อาทิ การแพทย์และสาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ มาจัดแสดง ส่วน หอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถานที่จัดแสดงประวัติและผลงานของมหาวิทยาลัยมหิดลที่สร้างคุณูปการต่อปวงชาวไทย จากมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านแพทยศาสตร์ สู่มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบดังเช่นในปัจจุบัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษา และผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่าทางการศึกษา โดยที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีพิพิธภัณฑ์รวม 40 แห่ง ซึ่งมีเนื้อหาเฉพาะทางที่แตกต่างกันไปตามความโดดเด่นของแต่ละคณะ/สถาบัน โดยมี หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่ง พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ ถือเป็น "คลังความรู้" ที่สำคัญที่ทุกองค์กรพึงมี เพื่อการเก็บรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าขององค์กรให้คงอยู่สืบไป ซึ่งทิศทางการวางแผนกลยุทธ์การพัฒนางานพิพิธภัณฑ์ในอนาคตของมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากภารกิจหลักเพื่อการเผยแพร่สู่กลุ่มนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นหลัก จะขยายศักยภาพการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สถาบันการศึกษาในชุมชน โดยเริ่มที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นจะกระจายสู่ทั่วประเทศต่อไป ติดตามรายละเอียดเพื่อเข้าชม หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ FB: Mahidol University Archives and Museums
รางวัลพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชนอีกรางวัล ได้แก่ พิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของวิชาชีพการพยาบาลไทย ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) องค์พระราชทานกำเนิด "โรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์แลการพยาบาลไข้" ซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลและผดุงครรภ์แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2439 และต่อมาพัฒนามาเป็น คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดังเช่นในปัจจุบัน โดยเป็นแหล่งศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการพยาบาลไทยที่เปิดให้บริการสำหรับนักศึกษาพยาบาล พยาบาลวิชาชีพ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป
รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เบื้องลึกของการจัดทำพิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือ ต้องการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในวิชาชีพพยาบาล ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ มา จนมีความเจริญก้าวหน้า และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลดังเช่นในปัจจุบัน โดยคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับ "รางวัลพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน" ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 2 จากความโดดเด่นที่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความสวยงาม มีชีวิตชีวา และสามารถบอกเล่าเรื่องราวอันทรงคุณค่าในความเป็นมาของวิชาชีพพยาบาลที่คอยดูแลสุขภาพคนไทยมาตลอดเวลากว่า 120 ปีที่ผ่านมาได้อย่างน่าจดจำ ทุกจุดทำด้วยจิตวิญญาณที่สะท้อนถึงความละเอียดอ่อนในการนำเสนอ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ ซึ่งพิสูจน์ได้จาก feedback ของผู้เข้าชมจากผู้ที่ไม่เคยรู้เรื่องราวของวิชาชีพพยาบาล ส่วนใหญ่เมื่อเข้ามาชมนิทรรศการแล้วจะสามารถบอกเล่าได้อย่างชื่นชม ติดตามรายละเอียดเพื่อเข้าชมได้ที่ FB: พิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทย Museum of Thai Nursing
และรางวัลพิพิธภัณฑ์ดีเด่น Museum Thailand Awards 2020 ด้านการสื่อความหมายของการสร้างประสบการณ์ (ด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย) สาขาพิพิธภัณฑ์ ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดสร้างขึ้นบนพื้นที่เดิมของสถานีรถไฟธนบุรี ในพื้นที่บางกอกน้อย ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ภายในพิพิธภัณฑ์ได้มีการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ซึ่งรวมถึงการสร้างทางรถไฟสายใต้ และวิถีชุมชนบางกอกน้อย ด้วยเทคนิคทันสมัย นอกจากนี้ ยังแสดงประวัติของศิริราช ประวัติการแพทย์แผนไทย ประวัติ "สมเด็จพระบรมราชชนก" พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและสาธารณสุขของไทย หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของพิพิธภัณฑ์ คือ นิทรรศการ "เรือโบราณ" ที่บอกเล่าถึงเรือไม้โบราณลำใหญ่ที่สุดของประเทศเท่าที่เคยขุดได้ ซึ่งถูกฝังกลบมากว่า 100 ปี ถือเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของประเทศไทยที่คนไทยไม่ควรพลาดชม
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงตุ้มทิพย์ แสงรุจิ หัวหน้าหน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์เปรียบเสมือนกับ "การศึกษาทางเลือก" ซึ่งทุกคนมีสิทธิเข้าถึง และสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำต้นทุนเดิม คือ การใช้องค์ความรู้ที่เป็นรากฐานสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทย ทั้งการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนปัจจุบัน และการแพทย์ทางเลือก มาสร้างสรรค์ให้นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทุกคนได้เรียนรู้และเข้าถึง และที่สำคัญไม่น้อยกว่าการให้ความรู้ คือ "การสร้างแรงบันดาลใจ" โดยสิ่งที่ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จะทำคือต่อไป คือ "พิพิธภัณฑ์ที่สร้างอนาคต" เพื่อให้ผู้ที่มาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้รับแรงบันดาลใจสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นต่อไป ติดตามรายละเอียดเพื่อเข้าชมได้ที่ FB: Siriraj Museum - พิพิธภัณฑ์ศิริราช
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit