สถาบันอาหาร อรุณอมรินทร์ 36///สถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดบ้านจัดกิจกรรมใหญ่ "Sharing Together" ฉลองการดำเนินงานก้าวสู่ปีที่ 25 มุ่งสู่วิสัยทัศน์ "ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก" เดินหน้า 3 เป้าใหญ่ ปั้นไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารโลก ผลักดัน GDP อุตสาหกรรมอาหารให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อปี และเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตของอาเซียน ตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 - 2570)
ชูความพร้อมทั้งงานบริการและให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรมอาหารครบวงจรตลอดสายโซ่การผลิต หนุนการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่ผู้ประกอบการในวงกว้าง ผนึกภาครัฐและเอกชนเสริมทัพผู้ประกอบการด้วย 4 มาตรการเด่น สร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต สร้างช่องทางตลาดสมัยใหม่ และสร้างปัจจัยเอื้อให้ง่ายในการดำเนินธุรกิจ หวังรับมือทิศทางอุตสาหกรรมอาหารโลกที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงในทศวรรษหน้า เผยภาพรวมการส่งออกอาหารของไทยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 มีมูลค่ารวม 753,000 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คาดไตรมาสสุดท้ายตลาดโลกจะมีความต้องการสินค้าอาหารสูงขึ้น แนวโน้มการส่งออกอาหารของไทยตลอดปี 2563 จะมีมูลค่าราว 1,025,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.8
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธานกรรมการสถาบันอาหาร กล่าวในพิธีเปิดงาน "Sharing Together ก้าวสู่ปีที่ 25 สถาบันอาหาร" จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 ณ ที่ทำการสถาบันอาหาร ว่าอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2562 ไทยมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1,016,932 ล้านบาท เป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 11 ของโลก และอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากจีน ทั้งนี้สินค้าที่ไทยส่งออกติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก มีหลายรายการ เช่น ติดอันดับ 1 ได้แก่ ทูน่า มันสำปะหลัง อันดับที่ 2 ได้แก่ ข้าว ไก่ น้ำตาลทราย เป็นต้น โดยไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 ล่าสุดในปี 2562 มีส่วนแบ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.51 และมีการส่งออกมากกว่านำเข้าถึง 631,415 ล้านบาท โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน CLMV ญี่ปุ่น และอาเซียน-5 มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 54 ของมูลค่าส่งออกอาหารทั้งหมด นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความมั่นคงทางอาหารที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพด้านการผลิต ดังจะเห็นได้จากในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ประเทศไทยแทบไม่มีปัญหาการขาดแคลนสินค้าอาหารเลย ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนตลอดทั้งสายโซ่การผลิต ซึ่งสถาบันอาหารได้ทำหน้าที่ตามบทบาทของตนเองได้อย่างดี และกลายเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่คอยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทย
"ผมเชื่อว่าปีที่ 25 และปีต่อๆ ไปของสถาบันอาหาร ก็จะคอยสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอาหารไทยให้ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง ด้วยทรัพยากรที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย หน่วยงานเครือข่าย และที่สำคัญบุคลากรที่พร้อมจะตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย และสถาบันอาหารก็มีความมุ่งมั่นในการปรับตัวให้เข้ากับบริบทของการทำธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี"
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันอาหารได้รับการจัดตั้งขึ้นในรูปแบบองค์กรเครือข่าย ภายใต้อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในปี 2563 นี้ เนื่องในโอกาสที่สถาบันอาหารดำเนินงานมาครบรอบ 24 ปี และกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 25 ด้วยความมุ่งมั่นเดินตามพันธกิจเดิมในการสร้างคุณค่าด้านวิชาการ เทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่ล้ำสมัย ทันสถานการณ์ ตอบสนองความต้องการของภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหาร จึงได้จัดงาน "Sharing Together ก้าวสู่ปีที่ 25 สถาบันอาหาร" เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปเข้าเยี่ยมชมงานภายในบริเวณที่ทำการสถาบันอาหาร สร้างบรรยากาศแห่งการแบ่งปันระหว่างสถาบันอาหารกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ด้วยแนวคิด Sharing Together ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ Share the Knowledge กิจกรรมสัมมนาและเสวนา Share Culinary Expertise การสาธิตการทำอาหารรสไทยแท้ Share Food Journey ท่องดินแดนแห่งอาหาร ชมพิพิธภัณฑ์แสดงความเป็นมาและวิวัฒนาการของผลิตภัณฑ์อาหาร ณ ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย ชั้น 2 Share the Joy การออกบูธแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจำนวน 42 บูธ และ Share the Taste การออกร้านของคาราวาน Food Truck จำนวน 11 คัน บริเวณลานอเนกประสงค์ โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยกระดับมาตรฐานการผลิตด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ จากการเข้าร่วมโครงการต่างๆ กับสถาบันอาหาร คาดว่ามีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 300 คน
"ตลอดระยะเวลา 24 ปีที่ผ่านมา สถาบันอาหารได้เป็นส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับผู้ประกอบการในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การยกระดับการผลิตสู่สากลด้วยมาตรฐานต่างๆ จำนวนกว่า 16,200 ราย การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ จำนวนกว่า 4,700 ราย การสร้างความเชื่อมั่นอาหารปลอดภัยด้วยการวิเคราะห์ผ่านห้องปฏิบัติการและการสอบเทียบจำนวนกว่า 1,176,600 รายการ การพัฒนาทักษะและถ่ายทอดความรู้บุคลากร จำนวนมากกว่า 224,000 คน การประเมินความเสี่ยงกว่า 20,000 รายการ และการวิจัยเชิงลึก มากกว่า 46 เรื่อง"
นางอนงค์ กล่าวเพิ่มเติมถึงบทบาทและความสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารต่อเศรษฐกิจไทย ในการบรรยายพิเศษหัวข้อ "NFI Next Milestone: Leading for the Future of the Food Industry" ว่า ในปี 2562 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้นของอุตสาหกรรมอาหาร(GDP) เท่ากับ 922,835 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.5 ของ GDP ประเทศ และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.6 เป็นอันดับ 1 ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม รองลงมาคือ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สัดส่วนร้อยละ 13.6 อุตสาหกรรมยานยนต์ สัดส่วนร้อยละ 11.2 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ สัดส่วนร้อยละ 9.0 และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สัดส่วนร้อยละ 4.7 เป็นต้น ปัจจุบันมีจำนวนสถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหารรวมทุกขนาด 128,137 กิจการ แบ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กร้อยละ 98.5 ขนาดกลางร้อยละ 0.9 และขนาดใหญ่เพียงร้อยละ 0.6 มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารทั้งหมดราว 1 ล้านคน โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 57.19 เฉพาะจำนวนโรงงานที่จดทะเบียนกับกรมโรงงานมีเพียง 8,282 โรงงาน ที่มีจำนวนมากสุด 4 ลำดับแรกคือ แปรรูปเนื้อสัตว์(18.4%) ผลิตภัณฑ์จากแป้ง(17.2%) แปรรูปผักผลไม้(12.4%) และแปรรูปสัตว์น้ำ(11.8%)
"สำหรับภาพรวมการส่งออกอาหารของไทยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 มีมูลค่ารวม 753,000 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามคาดว่าไตรมาสสุดท้ายตลาดโลกจะมีความต้องการสินค้าอาหารสูงขึ้น การส่งออกอาหารของไทยตลอดปี 2563 จึงมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 0.8 โดยมีมูลค่าราว 1,025,000 ล้านบาท"
นางอนงค์ กล่าวต่อว่า สถาบันอาหารยังคงมุ่งเสริมศักยภาพการแข่งขันแก่ธุรกิจเพื่อสร้างคุณค่าตลอดสายโซ่การผลิต โดยการให้บริการที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เกษตรกร อุตสาหกรรมอาหาร ร้านค้าปลีกและธุรกิจบริการอาหาร ไปจนถึงผู้บริโภค ภายใต้แนวคิด 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ Trust(Food Safety & Quality) ผ่านการบริการด้านห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ และบริการวิศวกรรมอาหาร Value(Innovation & Technology) ผ่านบริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี Power(Human Resource Development & Training) ผ่านบริการด้านพัฒนาทักษะแรงงานและเสริมสร้างองค์ความรู้แก่บุคลากร และ Speed Solutions(Business & Marketing) ผ่านบริการด้านสนับสนุนธุรกิจและการตลาด
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอาหารของไทยทุกระดับเข้มแข็ง ตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 - 2570) เพื่อให้สอดรับกับทิศทางอุตสาหกรรมอาหารโลกในทศวรรษหน้า ภายใต้วิสัยทัศน์ผลักดันให้ "ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก" ด้วย 3 เป้าหมายใหญ่ คือไทยต้องติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก เป็นประเทศที่มี GDP อุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อปี และเป็นประเทศศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตของอาเซียน โดยสถาบันอาหารพร้อมผลักดันด้วยมาตรการ 4 ด้าน ได้แก่ 1)สร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ โดยการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้พร้อมสำหรับการแข่งขันในสภาพธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะระบบ Food Safety เพิ่มผลิตภาพด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี รวมถึงกลุ่ม OEM สำหรับ Start Up 2)สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต โดยจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารอนาคต ถ่ายทอดเทคโนโลยีแปรรูปสมัยใหม่ 3)สร้างช่องทางตลาดสมัยใหม่ ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดแก่ธุรกิจอาหาร ผลักดันผู้ประกอบการเข้าสู่ช่องทางตลาดออนไลน์ เชื่อมโยงคู่ค้า ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายธุรกิจ และ 4)สร้างปัจจัยเอื้อให้ง่ายในการดำเนินธุรกิจ ปรับปรุงกระบวนการสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม พัฒนาระบบ Big Data ปัญญาประดิษฐ์ ผลักดันการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อธุรกิจ เผยแพร่ความรู้และพัฒนาทักษะใหม่ เป็นต้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit