วันที่ 8 ธ.ค.63 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง-ลำพะเนียงและต้นน้ำพอง ณ อ.เชียงคาน จ.เลย ว่า ลุ่มน้ำห้วยโมง ลำพะเนียงและต้นน้ำพอง รวมไปถึงพื้นที่ข้างเคียง เป็นพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูง ด้วยปัจจัยด้านภูมิประเทศและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การรุกล้ำเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม การบุกรุกเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวระบายน้ำธรรมชาติ และมีการสร้างสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ ขณะที่พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรน้ำฝนจึงเสี่ยงต่อการขาดน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง มีแหล่งเก็บกักน้ำไม่เพียงพอ ดังนั้น สทนช.จึงดำเนินโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งสำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง-ลำพะเนียงและต้นน้ำพอง รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับตำบลอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการ ครอบคลุมมาตรการกลยุทธ์ต่าง ๆ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้งที่ใช้และไม่ใช้สิ่งก่อสร้างเพื่อนำไปสู่การบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งมิติวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยชุมชนหรือท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 และส่งต่อให้หน่วยงานปฏิบัติทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนหลักในแนวทางเดียวกันต่อไป
"ขอบเขตพื้นที่ศึกษาตั้งอยู่ตอนบนของลุ่มน้ำชีบริเวณพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์และบางส่วนของลุ่มน้ำโขง โดยลุ่มน้ำโมงตอนบนเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง ครอบคลุมพื้นที่ 33 ตำบล 8 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี ลุ่มน้ำลำพะเนียงเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง ครอบคลุมพื้นที่ 33 ตำบล 5 อำเภอของจังหวัดหนองบัวลำภู และลุ่มน้ำเชิญ เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง ครอบคลุมพื้นที่ 51 ตำบล 9 อำเภอใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น และชัยภูมิ รวมถึงพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย พื้นที่ที่มีศักยภาพชลประทานในการรองรับน้ำผันจากโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ระยะที่ 1 พื้นที่ต้นน้ำห้วยโมง พื้นที่ต้นน้ำลำพะเนียง พื้นที่ต้นน้ำพองด้านเหนือน้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ และพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นต้น" ดร.สมเกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาในพื้นที่ศึกษาจำเป็นต้องพิจารณาศักยภาพของการใช้น้ำที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนลำน้ำโขงในพื้นที่ สปป.ลาว ที่ปัจจุบันก่อสร้างแล้ว 1 โครงการ คือ ไซยบุรี และผ่านขั้นตอน PNPCA 3 โครงการ คือ ปากแบง หลวงพระบาง และปากลาย และโครงการล่าสุดที่อยู่ระหว่างขั้นตอนเริ่ม PNPCA 1 โครงการ คือ โครงการสานะคาม ซึ่งเป็นโครงการที่ตั้งอยู่บนโค้งน้ำและใกล้กับเขตชายแดนไทยมาก จึงต้องมีความชัดเจนถึงผลกระทบก่อนการพัฒนาโครงการ อาทิ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคมข้ามพรมแดน มาตรฐานความปลอดภัยของเขื่อน มาตรการน้ำหลาก มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ชัดเจนในรูปแบบของกองทุนในการป้องกันผลกระทบให้กับประชาชนที่ฝ่ายไทยได้พยายามผลักดันในเวทีเจรจา 4 ประเทศมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน สทนช. ยังจะพิจารณาให้พื้นที่ริมน้ำโขงที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบจัดอยู่ในเป้าหมายการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ ( Area based) เพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำในอนาคตด้วย ขณะที่ในด้านของพลังงานที่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการก่อสร้างโครงการนี้ ทางกระทรวงพลังงานของไทยจะเป็นผู้พิจารณาความต้องการที่จะนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาวเช่นกัน
"ขณะนี้ สทนช. ได้เสนอท่าทีประเทศไทยไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) พิจารณาผลกระทบของเขื่อนสานะคามอย่างรอบคอบ เพื่อประกอบการให้ข้อมูลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน 8 จังหวัดโดยเร็ว รวมถึงพยายามสร้างกลไกการขับเคลื่อนแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ โดยร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัดริมน้ำโขง จัดกิจกรรมกำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์พืชน้ำแม่น้ำโขง ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง ชี มูล ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่มุ่งหวังให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขง ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายชุมชนที่แข็งแรง โดยเฉพาะการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit