ม.มหิดล ต้อนรับอุปทูตจีน เชื่อมสัมพันธ์อุดมศึกษา

08 Dec 2020

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล มีความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นกับมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐประชาชนจีนมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยที่อยู่ใน 5 อันดับแรก (Top 5 Universities) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ มหาวิทยาลัยชิงหฺวา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียงตง มหาวิทยาลัยฟูตัน และ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง รวมทั้ง Chinese Academy of Sciences (CAS) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีนวัตกรรมสูงสุดในโลก

ม.มหิดล ต้อนรับอุปทูตจีน เชื่อมสัมพันธ์อุดมศึกษา

เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล และผู้บริหารส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโอกาสต้อนรับนายหยาง ซิน (Mr.Yang Xin) อุปทูต รักษาการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ในโอกาสบรรยายพิเศษหัวข้อ "สาธารณรัฐประชาชนจีน และการอุดมศึกษาจีน" ในที่ประชุมกรรมการประจำมหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 21/2563 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ชั้น 5 สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

นายหยาง ซิน กล่าวว่า นับเป็นเวลา 70 ปีที่จีนได้รับการสถาปนาเป็น "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ซึ่งมีนโยบายการบริหารประเทศเพื่อประโยชน์แห่งปวงชนชาวจีนอย่างชัดเจน ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนมีความเจริญก้าวหน้าจนได้เป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกเช่นในปัจจุบัน โดย สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เป็นประเทศที่มีบทบาททางการค้า และมีเงินสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลกอยู่ในขณะนี้

ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากการมุ่งพัฒนาการศึกษาและวิจัยของประเทศโดยให้น้ำหนักไปทางด้านดังกล่าวเป็นอันดับแรก ทำให้ปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนมีจำนวนคำขอสิทธิบัตร (Patents) งานวิจัยและนวัตกรรมมากที่สุดในโลก โดยล่าสุดปี 2019 มีมากกว่า 1 ล้านรายการ และจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทยที่มีมาอย่างยาวนาน โดยครบรอบ 45 ปีในปี 2020 นี้ นายหยาง ซิน กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศโดยพระบรมวงศานุวงศ์ไทยทุกพระองค์ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่ผ่านมา จนปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนภาษาไทย หรือวิชาที่เกี่ยวกับภาษาไทยมากขึ้น ซึ่งนายหยาง ซินเองก็จบวิชาเอกภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และสามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว

นอกจากการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยแล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นจำนวนมากที่มีการเรียนการสอนวิชาวรรณคดีไทยประวัติศาสตร์ไทย และทำวิจัยเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ การต่างประเทศ และสังคมที่เกี่ยวกับประเทศไทย และในขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีนักศึกษาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาเรียนในประเทศเป็นจำนวนมากที่สุดในบรรดาจำนวนนักศึกษาที่มาจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้เรียนภาษาจีนในประเทศไทยรวมมากกว่า 7 ล้านคน

นายหยาง ซิน กล่าวต่อไปว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความร่วมมือที่สอดคล้องกับ "ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0" โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความร่วมมือทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะมีการส่งเสริมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะให้ครู อาจารย์ นักเรียน และนักศึกษา ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่าง 2 ประเทศให้มากขึ้น นอกจากนี้ จะมีความร่วมมือที่เน้นไปทางด้านแพทย์แผนโบราณทั้งจีนและไทย การศึกษาภาษาจีนและภาษาไทย และด้านอื่นๆ ตลอดจนจะมีการผลิตบุคลากรเพื่อสนองความต้องการระหว่าง 2 ประเทศให้มากขึ้น

และเพื่อให้ทันต่อโลกยุคดิจิทัล จะร่วมพัฒนาความร่วมมือทางการศึกษาที่เน้นไปทางด้านอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยี Big Data หรือการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศต่อไป