ธุรกิจทั่วโลกมีบทบาทสำคัญในการจัดการความเสี่ยงจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจการรายงานความยั่งยืนของเคพีเอ็มจีอินเตอร์เนชั่นแนล ปี 2563 The Time has Come เผยว่า ในบรรดาบริษัททั่วโลกที่มีความเสี่ยงจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มีเพียงน้อยกว่าหนึ่งในสาม (ร้อยละ 23) ที่เปิดเผยความเสี่ยงดังกล่าวในรายงานขององค์กร (Corporate Reporting)
การที่โลกสูญเสียสิ่งมีชีวิตในอัตราที่มากกว่าครั้งอื่นๆ ในประวัติศาสตร์มนุษย์ถึง 1,000 เท่า และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 44 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (มากกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP โลก) ขึ้นอยู่กับธรรมชาติและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน
การสำรวจทั่วโลกของเคพีเอ็มจี ได้ตรวจสอบการรายงานขององค์กรจาก 5,200 บริษัท โดยมี 100 บริษัทชั้นนำ จัดอันดับตามรายได้ใน 52 ประเทศและเขตการปกครอง
แม้ว่ากว่าร้อยละ 80 ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีการรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน แต่ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพยังคงไม่ได้รับการรายงานมากพอในภาคธุรกิจทั่วโลก
ในปัจจุบัน น้อยกว่าหนึ่งในสาม (ร้อยละ 23) ของบริษัทในกลุ่มเสี่ยง ได้เปิดเผยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ แม้จะมีคำเตือนซ้ำๆ เกี่ยวกับการทำลายระบบนิเวศและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้คนและเศรษฐกิจ การทำเหมืองแร่ (Mining) เป็นภาคอุตสาหกรรมเดียวที่ในปัจจุบันมีบริษัทส่วนใหญ่ (ร้อยละ 51) รายงานความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ
บริษัทในลาตินอเมริกามีแนวโน้มที่จะรายงานความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด (ร้อยละ 31) ในขณะที่บริษัทในอเมริกาเหนือมีแนวโน้มน้อยที่สุด (ร้อยละ 13)
นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) สองข้อที่มุ่งเน้นการจัดการกับความท้าทายด้านความหลากหลายทางชีวภาพของโลก คือ SDG 14 ทรัพยากรทางทะเล (Life Below Water) และ SDG 15 ระบบนิเนศบนบก (Life on Land) มีความสำคัญน้อยที่สุดจากทั้งหมด 17 ข้อ ในภาคธุรกิจทั่วโลก
ริชาร์ด เธรลฟอล หัวหน้าฝ่าย KPMG IMPACT ซึ่งเป็นคณะทำงานที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากเคพีเอ็มจี เพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) กล่าวว่า "ธุรกิจต่างๆ มีความรับผิดชอบในการมีส่วนช่วยแก้ไขวิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และขั้นตอนแรกในการมีส่วนร่วมคือการตระหนักว่าระบบห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาต้องพึ่งพาธรรมชาติและระบบนิเวศเป็นอย่างมาก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกธุรกิจต้องเปิดเผยความเสี่ยง ที่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจะส่งผลต่อบริษัทของตน รวมถึงผลกระทบจากตัวบริษัทเองต่อระบบนิเวศ การสำรวจของเราชี้ให้เห็นว่า บริษัทส่วนใหญ่ยังต้องปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลในภาพรวมด้านความเสี่ยงทางธุรกิจจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ"
เอเดรียน คิง ผู้ร่วมเขียนแบบสำรวจและหุ้นส่วน เคพีเอ็มจีประเทศออสเตรเลีย และประธานเครือข่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนของเคพีเอ็มจี กล่าวว่า "แม้ว่าการรายงานขององค์กรด้านความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ผมมองในแง่ดีว่าการปรับปรุงอย่างรวดเร็วนั้นเป็นไปได้ เราได้เห็นความคืบหน้าอย่างมากในการเปิดเผยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศของภาคธุรกิจนับตั้งแต่ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNEP) ได้เปิดตัวคณะทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) ในปี 2558 และผมคาดว่าจะเห็นแนวโน้มที่คล้ายกันในการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ"
วิม บาร์เทลส์ ผู้ร่วมเขียนแบบสำรวจและหุ้นส่วน Corporate Reporting เคพีเอ็มจีประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า "ปัจจุบัน หลายบริษัทยังขาดความเข้าใจในเชิงลึก ว่าความเสี่ยงเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของตนอย่างไร พวกเขายังขาดการเข้าถึงเครื่องมือและวิธีการเพื่อช่วยในการจำลองและเปิดเผยผลกระทบจากความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม การก่อตั้งองค์กรต่างๆ เช่น คณะทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ (Task Force on Nature-related Financial Disclosures: TNFD) จะทำให้การเปิดเผยข้อมูลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น"
ผลการสำรวจที่สำคัญ จากการสำรวจรายงานความยั่งยืนประจำปี 2563 ของเคพีเอ็มจี ได้แก่
พอล ฟลิปส์ หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืน เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า "ตั้งแต่ปี 2560 ประเทศไทยมีบริษัทที่รายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นจาก 67 แห่งเป็น 82 แห่ง เนื่องจากความหลากหลายทางชีวภาพได้รับความสนใจในฐานะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในอนาคต คือการจัดการกับผลกระทบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และการเผาไร่หลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ"
เกี่ยวกับการสำรวจ
งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นในปี 2563 โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนของเครือข่ายเคพีเอ็มจี ซึ่งตรวจสอบการรายงานขององค์กร จากบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 5,200 แห่ง วัดจากรายได้ ใน 52 ประเทศและเขตการปกครอง โดยรวมถึง บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 250 แห่งที่ได้รับการจัดอันดับจาก Fortune Global 500 ประจำปี 2562 การตรวจสอบนี้ใช้ข้อมูลจากรายงานทางการเงินประจำปี หรือการรายงานแบบบูรณาการ รายงานความยั่งยืน รายงานเดี่ยว และเว็บไซต์ของ บริษัท ที่เผยแพร่ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึง 30 มิถุนายน 2563
การสำรวจรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนฉบับล่าสุดนี้เป็นฉบับที่ 11 ซึ่งมีการเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2536
การวิจัยนี้จัดทำโดย KPMG IMPACT ซึ่งเป็นโครงการของเครือข่ายเคพีเอ็มจีที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และรวบรวมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีความรู้เฉพาะทางจากเครือข่ายทั่วโลกของเคพีเอ็มจี เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี
เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมาย และให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เราดำเนินธุรกิจใน 147 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 219,000 คน ที่ทำงานร่วมกันในเครือข่ายสมาชิกทั่วโลก เคพีเอ็มจีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกดำเนินธุรกิจใน 20 ประเทศและมีพนักงานมากกว่า 46,000 คน
เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เป็นสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีเครือข่ายทั่วโลก ซึ่งให้บริการด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมายและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit