นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ที่ประชุมได้มีการรับฟังการรายงานสถานการณ์อุทกภัย น้ำไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่งและวาตภัย จากเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ โดยตั้งแต่ช่วงวันที่ 7 ต.ค. 63 - ปัจจุบัน มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว จำนวน 26 จังหวัด ซึ่งขณะนี้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว 10 จังหวัด และยังคงมีอีก 16 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ กำแพงเพชร อุทัยธานี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว กาญจนบุรี เพชรบุรี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และจังหวัดสตูล
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยได้มีการรายงานปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ต.ค. 63) มีจำนวน 44,982 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 21,050 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 31,115 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังได้มีการสำรวจความเสียหายและประสิทธิภาพการรองรับน้ำของเขื่อน โดยใช้เครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน ซึ่งขณะนี้สามารถรับมือและควบคุมสถานการณ์ได้ และได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้มีการสร้างการรับรู้และสร้างความมั่นใจต่อพี่น้องประชาชนให้มากที่สุดด้วย
สำหรับการรายงานสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปี รอบที่ 1 ปีการผลิต 2563 กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร ได้รายงานพื้นที่เป้าหมายการส่งเสริมการปลูกข้าว จำนวน 59.883 ล้านไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ในเขตชลประทาน 16.787 ล้านไร่ ได้มีการเพาะปลูกไปแล้ว 14.04 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 43.096 ล้านไร่ สำหรับในส่วนของผลกระทบด้านการเกษตร (ด้านพืช) มี 12 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา สตูล และจังหวัดตรัง มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 75,834 ราย พื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย 281,964 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 116,099 ไร่ พืชไร่ 120,043 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ 45,822 ไร่
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังเตรียมเสนอโครงการสร้างรายได้และพัฒนาอาชีพเกษตรให้แก่สมาชิกสถาบันเกษตรกร มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสมาชิกสถาบันเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงในปี 2563/64 ประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยให้สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่อไปได้ รวมถึงเพื่อสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาสในครัวเรือน และส่งเสริมพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำในแปลงเกษตรกรรมของสมาชิกของสถาบันเกษตรกรให้เกิดประสิทธิภาพ โดยวางเป้าหมาย 51 จังหวัด ไปยังสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 161 แห่ง และวางเป้าหมายเข้าถึงสมาชิกสถาบันเกษตรกร 3,000 ราย ทั้งนี้ จะมีการรวบรวมข้อมูลและประชุมสรุปทางการดำเนินงาน โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประภัตร โพธสุธน) เป็นประธาน และจะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) พิจารณาเห็นชอบต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit