มหาบัณฑิตทันตแพทย์ ม.มหิดล สร้างชื่อ แปรรูปฟันแท้ที่ไม่สามารถเก็บไว้ได้เป็นผงกระดูก เพื่อมาปลูกถ่ายในเบ้ารากฟันได้ทันทีข้างเก้าอี้ทำฟันโดยใช้เวลาสั้น

21 Oct 2020

มหาบัณฑิตทันตแพทย์ ม.มหิดล สร้างชื่อ แปรรูปฟันแท้ที่ไม่สามารถเก็บไว้ได้เป็นผงกระดูก เพื่อมาปลูกถ่ายในเบ้ารากฟันได้ทันทีข้างเก้าอี้ทำฟันโดยใช้เวลาสั้น

วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้เป็น "วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ" เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงมีปณิธานเพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพอนามัยในช่องปากที่ดีตลอดไป

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพทางทันตกรรมในทุกระดับ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ทันตแพทย์มานพ คานียอร์ ศิษย์เก่าหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ วิชาเอกศัลยศาสตร์ช่องปากและแมกซิโลเฟเชียล (หลักสูตรนานาชาติ) ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ณัฐเมศร์ วงศ์สิริฉัตร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา สามารถคว้ารางวัลวิทยานิพนธ์นวัตกรรมดีเด่น ระดับดีมาก ประจำปีงบประมาณ 2563 จัดโดย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานวิจัยเรื่อง "การวิเคราะห์คุณลักษณะทางเคมีฟิสิกส์ของวัสดุแทนกระดูกที่ได้จากขบวนการแปรรูปฟัน (TDBS) ที่ถูกเตรียมข้างเก้าอี้และวัสดุปลูกกระดูกที่ใช้ปัจจุบันในคลินิก" โดยก่อนหน้านี้ ทันตแพทย์มานพ คานียอร์ ได้เป็นทันตแพทย์คนแรกที่ได้รับรางวัลผลการศึกษายอดเยี่ยมขั้นวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ประจำปีการศึกษา 2562 จาก มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ รวมทั้งมีผลงานตีพิมพ์ใน Journal of Oral and Maxillofacial Surgery, Medicine, and Pathology และ Dental Materials Journal ซึ่งเป็นวารสารทางวิชาการทันตกรรมระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus ตลอดจนยังได้รับโอกาสไปแสดงผลงานโปสเตอร์ที่บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน

การสูญเสียฟันก่อนวัยอันควรเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งนอกจากจะเกิดจากอุบัติเหตุ การสูบบุหรี่ โรคปริทันต์แล้ว ยังเกิดจากปัญหาพฤติกรรมการใช้ฟันไปในทางที่ผิด โดยงานวิจัยของ ทันตแพทย์มานพ คานียอร์ เกิดจากแนวคิดในการนำฟันแท้ที่ไม่สามารถเก็บไว้ได้เป็นผงกระดูกของผู้ป่วย แทนที่จะทิ้งให้เสียเปล่า แต่ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ในการปลูกถ่ายเบ้าฟัน ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการเตรียมการก่อนการรักษาทางทันตกรรมอื่นๆ โดยสามารถทำที่ข้างเก้าอี้ทำฟันของผู้ป่วยได้เลยทันที ภายในเวลาเพียง 20 นาที ซึ่งเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากเพื่อให้ทันตแพทย์ผู้ทำการรักษาใช้สารกระดูกที่นำเข้ามาจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงมาปลูกถ่ายเบ้าฟันให้กับตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณทางทันตสาธารณสุขของประเทศไทยในภาพรวมได้อีกด้วย

ก่อนเข้าศึกษาที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทันตแพทย์มานพ คานียอร์ เคยศึกษาในหลักสูตร Biomedical Sciences ที่วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) จากนั้นได้มาศึกษาต่อยอดทางด้านทันตแพทยศาสตร์ ที่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท หลักสูตรนานาชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะมหาบัณฑิตผู้เป็น "ปัญญาของแผ่นดิน"

ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ณัฐเมศร์ วงศ์สิริฉัตร กล่าวฝากทิ้งท้ายว่า ปัญหาที่นักวิจัยไทยไม่ได้รับการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งๆ ที่มีวิธีการเขียนที่ไม่แตกต่างกัน ซึ่งการเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมในระดับนานาชาติ นอกจากจะเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์แล้ว ยังจะเป็นการช่วยสร้างเครือข่ายให้นักวิจัยไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในเวทีโลกอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ทางคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ณัฐเมศร์ วงศ์สิริฉัตร นอกจากจะเคยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของ ทันตแพทย์มานพ คานียอร์ แล้ว ยังเป็นกำลังสำคัญของหน่วยวิจัยของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการนำผลสำเร็จของทีมวิจัยไปต่อยอดโดยใช้ฟันที่แปรรูปเป็นผงกระดูกมาปลูกถ่ายในเบ้าฟันของผู้ป่วยที่เพิ่งถอนฟันใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้สันกระดูกฟันยุบตัวลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการใส่รากฟันเทียมต่อไปอีกด้วย

พบกับกิจกรรม "ฟ.ฟันพรรษา" จัดโดย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ 21 ตุลาคม 2563 เวลา 08.30 - 15.00 น. และบริเวณชั้น 3 และชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนโยธี กรุงเทพฯ ภายในงานมีฐานกิจกรรมมากมาย พร้อมรับของที่ระลึก ซึ่งกิจกรรมแบ่งออกเป็น 6 ฐาน ได้แก่ ฐานการทำแอลกอฮอล์เจล ฐานความรู้เรื่องยากับงานทันตกรรม ฐานคุยกับหมอฟัน ฐานฟันเทียมสะอาดสวยด้วยสองมือเรา ฐานบอร์ดความรู้เกี่ยวกับฟัน และฐานล้างมือที่ถูกวิธี ผู้สนใจดูรายละเอียดได้ที่ FB: Faculty of Dentistry, Mahidol University

HTML::image(