องค์กรพิทักษ์สัตว์เปิดรายงานวิกฤติซุปเปอร์บั๊กส์ หายนะด้านสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าโควิด 19

14 Oct 2020

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเผยรายงานการใช้ยาปฏิชีวนะในระบบฟาร์มอุตสาหกรรมเป็นยาตัวเดียวกันที่ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อจากโควิด-19 โดยหากมีการติดเชื้อดื้อยานี้จะส่งผลให้ยาปฏิชีวนะที่รักษาทำงานไม่ได้ผล พร้อมคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตอาจพุ่งสูงถึง 10 ล้านรายต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2050

องค์กรพิทักษ์สัตว์เปิดรายงานวิกฤติซุปเปอร์บั๊กส์ หายนะด้านสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าโควิด 19

รายงาน Fueling the pandemic crisis – factory farming and the rise of superbugs จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่เนื่องในวันอาหารโลก 16 ตุลาคมของทุกปี (World Food Day) เพื่อให้สาธารณชนและทุกภาคส่วนของสังคมได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของภัยเงียบจากเชื้อซุปเปอร์บั๊กส์ (Superbugs) ซึ่งเกิดจากการฟาร์มอุตสาหกรรมที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพของสัตว์และนำไปสู่การปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อมที่มีการอุปโภคบริโภคอันเป็นภัยต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างรุนแรง

หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเชื้อซุปเปอร์บักส์หรือแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะนั้นมาจากภาคปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟาร์มอุตสาหกรรรมมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากถึง 3 ใน 4 ส่วนของยาปฏิชีวนะที่ผลิตขึ้นมา ทั่วโลก ซึ่งฟาร์มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มักจะละเลยเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ อาทิเช่น การเลี้ยงไก่เนื้อที่มาจากการคัดเลือกสายพันธุ์เร่งโต หรือการตัดตอนอวัยวะลูกหมู รวมไปถึงโรงเรือนที่มีสภาพแออัด ซึ่งจะทำให้สัตว์เกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันลดลง มีการเจ็บป่วยได้ง่าย และกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และแพร่กระจายเชื้อโรคมากมายรวมถึงเชื้อซุปเปอร์บั๊กส์

เมื่อเชื้อซุปเปอร์บั๊กส์แพร่กระจายสู่คน ก็จะส่งผลให้ยาปฏิชีวนะที่เรากินเพื่อรักษาอาการติดเชื้อต่างๆทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพหรืออาจไม่ได้ผลเลย จากกรณีการเสียชีวิตของล่ามคนไทยที่ติดเชื้อโควิด-19 แม้ว่ามีการรักษาให้หายแล้วก็ตาม แต่เพราะเชื้อซุปเปอร์บั๊กส์ ทำให้การติดเชื้อที่ปอดไม่สามารถรักษาได้ จึงนับเป็นกรณีศึกษาอย่างชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่าเชื้อซุปเปอร์บั๊กส์ทำให้สถานการณ์โรคระบาดนั้นเลวร้ายลงได้เพียงใด ปัจจุบันทั่วโลกมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาต้านปฏิชีวนะถึง 700,000 รายต่อปี และเป็นที่คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจพุ่งสูงถึง 10 ล้านรายต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2050

นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้กล่าวถึงสถานการณ์ซุปเปอร์บั๊กส์ว่า “หากเปรียบโรคระบาดเหมือนน้ำท่วมฉับพลันที่สร้างความเสียหายแบบที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว วิกฤติซุปเปอร์บั๊กส์ก็จะเปรียบเสมือนน้ำที่เอ่อขึ้นมาให้เราเห็นอย่างช้าๆ แต่กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจจะสูงท่วมหัว ซึ่งสายเกินไป หากเราไม่ช่วยกันหยุดต้นตอของปัญหาซุปเปอร์บั๊กส์โดยทันที ในอนาคตเราอาจจะเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตจากการการติดเชื้อเล็กน้อย เช่น เจ็บคอหรืออาหาร เป็นพิษ เนื่องจากยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ไม่สามารถใช้รักษาได้”

ในประเทศไทย สถานการณ์การติดเชื้อโรคแบคทีเรียดื้อยายังคงอยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง มีจำนวนผู้ป่วยที่มีเชื้อดื้อยาสูงขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อซุปเปอร์บั๊กส์ประมาณ 100,000 คนต่อปี และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณ 38,000 คนต่อปี ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่า 40,000 ล้านบาท

ในรายงานขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกฉบับนี้ ยังได้เผยผลการสำรวจสาธารณะของผู้บริโภคจาก 15 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยในเรื่องความกังวลการเกิดโรคระบาดครั้งต่อไป ซึ่งมีการชี้ให้เห็นว่า 85% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจมีความกังวลถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ที่มาจากสัตว์ในฟาร์มส่วนใหญ่กว่า 88% ไม่เคยได้รับรู้หรือตระหนักเกี่ยวกับอันตรายของเชื้อซุปเปอร์บั๊กส์เลยและมีความกังวลในการรับเชื้อโรคนี้ด้วยเช่นกัน

ประเด็นที่น่าสนใจจากการสำรวจแสดงให้เห็นว่า

  • 82% คาดการณ์เกี่ยวกับปริมาณยาปฏิชีวนะที่ใช้กับสัตว์ในฟาร์มทั่วโลกต่ำกว่าความเป็นจริง
  • เชื้อซุปเปอร์บั๊กส์ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อสุขภาพ (70%) หรือมีการปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ (60%) คือสิ่งที่น่าวิตกที่สุด
  • 92% เชื่อว่าภาครัฐควรกำกับดูแลและรายงานปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะกับสัตว์ในฟาร์ม
  • 85% เชื่อว่ายาปฏิชีวนะควรใช้เฉพาะการรักษาสัตว์ที่เจ็บป่วยเท่านั้น
  • 4 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสำรวจ จะไม่ซื้อสินค้าจากผู้ค้าปลีกที่ไม่มีมาตรการรับรองว่าสัตว์มีสวัสดิภาพที่ดี และผลิตภัณฑ์เนื้อที่พวกเขาจำหน่ายมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมีความรับผิดชอบ

นายโชคดี ยังได้เสนอทางออกของปัญหานี้ว่า “ทุกภาคส่วนควรใส่ใจในเรื่องของสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น เพราะเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิตทั้งสัตว์และคนปลอดภัยยิ่งขึ้น ภาครัฐควรมีมาตราการในการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบเหมารวมในฟาร์มอุตสาหกรรม ผู้ผลิตก็ต้องหันมาพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ให้ดีขึ้นเพื่อลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะ ในส่วนของซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ควรกำหนดมาตราการที่เข้มงวดมากขึ้นในการรับซื้อเนื้อสัตว์จากฟาร์มที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมีความรับผิดชอบ ตลอดจนผู้บริโภคเองก็เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ โดยเชื่อว่าหากร่วมมือกัน วิกฤติซุปเปอร์บั๊กส์ก็จะสามารถบรรเทาลงได้”

*อ่านรายงาน Fueling the pandemic crisis – factory farming and the rise of superbugs
https://bit.ly/30XsrEX (ฉบับย่อ ภาษาไทย)
https://bit.ly/3748yjx (ฉบับเต็ม ภาษาอังกฤษ)

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ขอชวนร่วมลงชื่อได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th/mutilation/Raise-Pigs-Right เพื่อเรียกร้องไปยังผู้ผลิต ห้างค้าปลีก และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้หยุดการทรมานสัตว์โดยการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม เพื่อสัตว์ทุกตัว เพื่อเราทุกคน

เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข , สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ - ช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th /

องค์กรพิทักษ์สัตว์เปิดรายงานวิกฤติซุปเปอร์บั๊กส์ หายนะด้านสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าโควิด 19 องค์กรพิทักษ์สัตว์เปิดรายงานวิกฤติซุปเปอร์บั๊กส์ หายนะด้านสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าโควิด 19 องค์กรพิทักษ์สัตว์เปิดรายงานวิกฤติซุปเปอร์บั๊กส์ หายนะด้านสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าโควิด 19